บทความ: มองอนาคตความร่วมมือระหว่างจีนและอาเซียนหลังยุคโควิด-19
การประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 25 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2565 มีนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าร่วมประชุม โดย นายหลี่ เค่อเฉียง ได้ร่วมกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสาม รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ กับผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน ปรเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลีใต้
นายหลี่ เค่อเฉียง ย้ำจุดยืนของจีนในที่ประชุมอาเซียนบวกสาม ถึงความร่วมมือในภูมิภาคในมิติต่างๆ โดยกล่าวว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญของเศรษฐกิจโลก ดังนั้น การประชุมอาเซียนบวกสามจึงเป็นช่องทางสำคัญสำหรับความร่วมมือของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและอาเซียน โดยแนวทางการพัฒนาความร่วมมือยังคงเน้นเรื่อง การส่งเสริมการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม ยกระดับการพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
นอกจากนี้ จีนมุ่งพัฒนาความร่วมมือผ่านกลไกต่างๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคหลังยุคโควิด-19 ได้แก่ ความร่วมมือตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือ RCEP ให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขกับประเทศในอาเซียน และตอนนี้จีนยังปรับมาตรการโควิด-19 ลดวันกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ เพิ่มเที่ยวบินระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ของประเทศในอาเซียน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เดินทางไปยังจีนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอาเซียน ในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ จีนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียนเป็นเวลา 13 ปี มีมูลค่าการค้ากว่า 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนมีข้อตกลงความร่วมมือกับอาเซียนมากกว่า 160 ข้อตกลง
นายเติ้ง ซีจวิน (Deng Xijun) เอกอัครราชทูตจีนประจำอาเซียน กล่าวถึงบทบาทของจีนกับอาเซียนว่า อาเซียนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ทำให้เกิดสันติภาพ เสถียรภาพ การพัฒนา และความเจริญรุ่งเรือง
โดยจีนและอาเซียนจะผลักดันข้อตกลงและข้อริเริ่มต่างๆ พัฒนาความร่วมมือที่เพื่อให้บรรลุการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่แข็งแกร่งหลังการระบาดของโควิด-19 อาทิ
จีนและอาเซียนจะยังคงดําเนินการตามแผน Belt and Road Initiative ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมโยงตลาดค้าระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ
จีนจะส่งเสริมการค้าเสรีและสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในอาเซียนกับจีน
จีนจะยกระดับเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน เวอร์ชัน 3.0 เพื่อขยายความร่วมมือด้านการผลิตและเศรษฐกิจการค้ากับอาเซียนให้เพิ่มมากขึ้นอีก
จีนจะส่งเสริมการพัฒนาการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภูมิภาค
จีนจะร่วมมือในการพัฒนาสังคมคาร์บอนต่ำ เศรษฐกิจสีเขียว ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านความร่วมมือในโครงการพลังงานสะอาด เกษตรสีเขียว เป็นต้น
ในด้านวัฒนธรรม จีนให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม โดยมีจุดแข็งเรื่องความใกล้ชิดกันทางด้านภูมิศาสตร์ระหว่างจีนกับอาเซียน ที่ช่วยทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน
โดยความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอาเซียน จะยิ่งใกล้ชิดกันและมีส่วนร่วมกันมากยิ่งขึ้น ดังที่ท่านทูตเติ้ง ซีจวิน กล่าวว่า จะพยายามร่วมกับอาเซียนเพื่อสร้างภูมิภาคนี้ให้เป็นบ้านที่มีสันติภาพ ความเงียบสงบ ความเจริญรุ่งเรือง ความงาม และไมตรีจิต
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย