บทวิเคราะห์ : การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ต้องเป็นรูปธรรม
การประชุม“รัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” สมัยที่ 27 หรือ “COP27” จัดขึ้นที่เมือง Sharm El-Sheikh ประเทศอียิปต์ระหว่าง วันที่ 6-18 พฤศจิกายนนี้ มีประมุขแห่งรัฐ ผู้นำรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหลายๆ ประเทศร่วมการประชุม สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นประเด็นที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนในปัจจุบัน
การรับมือกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงของประเทศต่างๆ ทั่วโลก นอกจากกำหนดเป้าหมายที่แน่ชัด ยังจำเป็นต้องมีนโยบายที่มีประสิทธิภาพและดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมควบคู่กัน ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา ความพยายามร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศ มีความคืบหน้าสำคัญหลายครั้ง
ความสำเร็จที่ได้มาอย่างยากลำบากเหล่านี้ยังรวมถึง การลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) พิธีสารเกียวโต และข้อตกลงปารีส ( COP ) แต่การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมได้ถูกขัดขวางโดยบางประเทศที่พัฒนาแล้วที่ไม่ยอมปฏิบัติตามพันธกรณีที่พึงมีของตนและคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้อย่างจริงจัง
ตามที่ภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ยอมรับโดยทั่วไป ประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาต้องรับผิดชอบร่วมกัน ตามเงื่อนไขของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ทั้งสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางประวัติศาสตร์ และขั้นตอนการพัฒนาของแต่ละประเทศ แม้ว่าประเทศอุตสาหกรรมบางประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าประเทศอื่นในประวัติศาสตร์ แต่กลับพยายามที่จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบของตน
สหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในประวัติศาสตร์กลับปฏิเสธที่จะให้สัตยาบันพิธีสารเกียวโต และแม้ว่าสหรัฐฯจะยอมกลับไปสู่ข้อตกลงปารีสหลังจากถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้ในปี 2020 แต่การเมืองภายในสหรัฐฯในกรณีนี้มีการแบ่งขั้วมากขึ้น ประชาคมโลกจึงกังวลอย่างมากว่า เสถียรภาพทางการเมืองของสหรัฐ ฯ อาจส่งผลกระทบต่อความพยายามระดับโลกในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกครั้ง
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แรงกดดันจากทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นทำให้สหรัฐฯ และประเทศที่ร่ำรวยอื่นๆ ต้องประนีประนอมกับประเทศกำลังพัฒนาในประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสัญญาว่า จะช่วยประเทศกำลังพัฒนารับมือในประเด็นนี้ แต่การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมของประเทศที่พัฒนาแล้วกลับมีน้อยมาก ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2009 ประเทศที่พัฒนาแล้วให้คำมั่นว่า จะมอบเงินจำนวน 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในแต่ละปีให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อช่วยรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่จนถึงทุกวันนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วกลับยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำมั่นดังกล่าวอย่างจริงจัง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา และเกิดผลพวงให้ประชาคมโลกไม่สามารถระดมกำลังในการรับมือกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
จีนในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุด ได้ดำเนินมาตรการเชิงปฏิบัติมากมาย เพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น จีนได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อชี้แนะและประสานกิจการงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งกำหนดและเผยแพร่เอกสารการออกแบบสูงสุด ตามเป้าหมายการนโยบายจำกัดปล่อยคาร์บอนสูงสุด จนมาถึงความเป็นกลางทางคาร์บอน
ในปี 2021 ตลาดคาร์บอนแห่งประเทศจีน เป็นระบบซื้อขายการปล่อยคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้เริ่มซื้อขายผ่านระบบออนไลน์
นอกจากนี้ จีนยังได้ส่งเสริมความร่วมมือในการสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ( BRI : Belt and Road Initiative ) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และดำเนินโครงการความร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถการรับมือกับผลกระทบ สนับสนุนทางการเงิน และจัดหลักสูตรฝึกอบรม
การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภารกิจร่วมกันของมนุษยชาติ การแก้ไขปัญหาที่เป็นภัยคุกคามต่อมนุษย์ จำเป็นต้องดำเนินการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ควรดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและจริงจังในประเด็นปัญหานี้ ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด