บทวิเคราะห์:สร้างความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของเอเชียแปซิฟิก

By นาย สนั่น อังอุบลกุล (People's Daily Online)วันอาทิตย์ 20 พฤศจิกายน 2022

การประชุมสุดยอดเอเปกในไทยในช่วงเดือนพ.ย. ปีนี้ เป็นเวทีในการหาทางออกของปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ ร่วมกันระหว่าง 21 เขตเศรษฐกิจ     การเข้าร่วมประชุม APEC ที่ประเทศไทย ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจึงสื่อความตั้งใจของจีนที่จะร่วมสร้างเสถียรภาพให้แก่ภูมิภาค นี่ไม่เพียงสอดรับกับแนวทางเชื่อมโยงที่จีนพยายามผลักดันเสมอมา แต่ยังเผยให้เห็นว่า จีนให้ความสำคัญกับการเป็นเจ้าภาพของไทยโดยไม่หวั่นเกรงต่อแรงกดดันจากปัญหาขัดแย้งใด ๆ ซึ่งส่วนนี้สำคัญมาก

แนวคิดการจัดงานเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ คือ Open Connect  Balance    ซึ่ง Open คือการที่ทุกประเทศต้องเปิดกว้าง และแสวงหาโอกาสทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และโอกาสใหม่ ๆ โดยไม่ปิดกั้น    Connect คือการเชื่อมโยงทุกประเทศเข้าด้วยกัน การสนับสนุนแชร์ supply chain ของแต่ละประเทศเพื่อการเติบโตไปพร้อม ๆ กัน    Balance คือการเน้นความสมดุล ไม่ใช่เฉพาะการแสวงหาโอกาสทางความมั่งคั่งในแต่ละประเทศเท่านั้น แต่จะทำอย่างไรให้แต่ละประเทศสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน       นอกจากนี้ เป้าหมายหลักในการจัดงาน คือการส่งเสริมการเปิดเขตเสรีการค้าและการลงทุน รวมถึงความร่วมมือด้านสังคมและการพัฒนาในทุกมิติ เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน และสร้างความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค

จากนโยบายเปิดกว้างสู่ภายนอกของจีน โดยผลักดันความร่วมมือภายใต้โครงการ“หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”การเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับนานาประเทศ และส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้าง   ทำให้ทั่วโลกได้ตระหนักว่า จีนมีขีดความสามารถและศักยภาพที่จะดำเนินความร่วมมือกับทั่วโลก เพื่อเสริมสร้างประโยชน์ระหว่างกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง     จีนไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาภายในประเทศ แต่ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมคุณค่าร่วมกันของมวลมนุษยชาติ และขยายความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ของทุกฝ่าย ทั้งในด้านการค้าพหุภาคี การแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ร่วมกัน และการพัฒนาระบบนิเวศสีเขียว

ผลของการประชุมใหญ่สมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 เป็นที่ติดตามของทุกประเทศที่มีความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ กับประเทศจีน     สิ่งที่ทุกคนติดตามคำแถลงของท่านสี จิ้นผิง ก็คงจะรู้สึกได้ว่า  นโยบายมหภาคที่ชัดเจนและเปิดกว้างที่จีนจะนำมาใช้เพื่อพัฒนาให้จีนเป็นสังคมนิยมที่มีแต่ความทันสมัยและแข็งแกร่งในแบบฉบับและลักษณะของจีนเองนั้น จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนจีนและทั่วโลก     จากนี้ไป จีนจะมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจที่มิใช่แค่จีน และรวมถึงประเทศต่าง ๆ ที่ความสัมพันธ์ในเชิงการค้า การลงทุน ให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง

ส่วนของไทยเอง จีนถือเป็นประเทศที่มีความสำคัญมาก ทั้งในแง่ของ Demand และ Supply ซึ่งจีนเป็นตลาดที่ใหญ่มหาศาล ร่วมมือกันส่งเสริมและขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ นวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัล พลังงานสะอาด โลจิสติกส์ การอำนวยความสะดวกทางการค้า และการท่องเที่ยว     สิ่งที่ไทยและจีนจะเดินหน้าต่อไปคือการพัฒนาและเชื่อมโยงเส้นทางการค้า ซึ่งไทยเองมีพื้นที่การลงทุน EEC ที่สามารถเชื่อมโยงด้วยรถไฟความเร็วสูงที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เชื่อมโยงไปยัง สปป.ลาว และเข้าสู่จีนตอนใต้ และถือเป็นการต่อจิกซอตัวสำคัญใน“หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”ของจีน

เชื่อว่าทุกภาคส่วนในประเทศไทยและจีน ยินดีที่จะดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายและวิสัยทัศน์ ในการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน เพื่อสร้างมิติใหม่ของ “ไทยจีนใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” รวมทั้งขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ที่ครอบคลุมรอบด้านระหว่างอาเซียน-จีน อีกด้วย  ซึ่งในโอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค 2022 นี้

 

 

โดย นาย สนั่น อังอุบลกุล

ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน)

ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย