กระทรวงศึกษาธิการจีนร่างบทลงโทษติวเตอร์เถื่อน
หน่วยงานกำกับดูแลการศึกษาจีนวางแผนปรับเงินมหาศาลกับโฮมสเตย์และครูสอนพิเศษออนไลน์ เพื่อขัดขวางการสอนพิเศษทางวิชาการแก่นักเรียนอนุบาล ประถมและมัธยมต้น
กระทรวงศึกษาธิการจีนยกร่างแนวปฏิบัติสำรับลงโทษการสอนพิเศษหลังเลิกเรียน นับเป็นอีกนโยบายในการควบคุมวงการกวดวิชาที่เคยวุ่นวายและแพร่หลาย โดยร่างดังกล่าวระบุบุคคลและองค์กรที่ดำเนินการสอนพิเศษทางวิชาการที่มีพฤติกรรมหลอกลวง รวมถึงการให้คำปรึกษา การดูแลบ้าน การแนะแนวการศึกษาของครอบครัว ครูสอนพิเศษที่บ้าน หรือค่ายฤดูหนาวและฤดูร้อน อาจถูกปรับสูงสุด 100,000 หยวนหรือราว 500,000 บาท นอกจากนี้ ผู้ที่ใช้แอปส่งข้อความ การประชุมทางไกลผ่านจอภาพหรือแพลตฟอร์มสตรีมมิงแบบสด หรือดำเนินการสอนพิเศษที่โรงแรม หรือร้านกาแฟก็เข้าข่ายต้องถูกปรับด้วยเช่นกัน
ในร่างยังระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่จะสั่งให้บุคคลและองค์กรที่จัดการเรียนการสอนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหยุดดำเนินการและเสียค่าปรับตั้งแต่หนึ่งถึงห้าเท่าของกำไรและจะริบกำไรทั้งหมด นอกจากนี้ สถาบันที่เปิดสอนพิเศษแก่นักเรียนอนุบาล ประถมและมัธยมต้นที่เข้าร่วมการแข่งขันทางวิชาการ อาจถูกปรับสูงสุด 100,000 หยวนหรือราว 500,000 บาท
ในรายงานที่เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการประจำสภาประชาชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นสภานิติบัญญติสูงสุดของจีนเมื่อเดือนตุลาคม นายห้วย จินเผิง (Huai Jinpeng) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า ได้บรรลุผลสำเร็จที่ถือเป็นความคืบหน้าสำคัญ นับตั้งแต่มีการใช้นโยบาย“ลดสองเท่า”เมื่อปีที่แล้ว เพื่อแบ่งเบาภาระของนักเรียนจากการมีการบ้านมากเกินไปและการเรียนพิเศษนอกโรงเรียน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังระบุด้วยว่าผลจากการดำเนินนโยบายนี้ทำให้จำนวนสถาบันกวดวิชาในสถานที่สำหรับนักเรียนชั้นประถมและมัธยมต้นลดลง จากเดิมที่มี 124,000 แห่งเหลือประมาณ 5,000 แห่ง ขณะที่สถาบันกวดวิชาออนไลน์จาก 263 แห่งเหลือเพียง 34 แห่ง
แนวปฏิบัติที่ออกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์โดยกระทรวงศึกษาธิการและยุติธรรมและสำนักงานคณะกรรมการแห่งรัฐเพื่อการปฏิรูประบบราชการ ระบุว่าสถาบันและบุคคลที่ถูกจับได้ว่าละเมิดกฎการสอนพิเศษนอกหลักสูตรอย่างร้ายแรงจะต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินมหาศาลและห้ามทำงานในภาคการศึกษาตลอดชีวิต
นายฉง ปิ่งฉี (Xiong Bingqi) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการศึกษาแห่งศตวรรษที่ 21 กล่าวว่า การสอนพิเศษโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นอุปสรรคสำคัญในระเบียบการเรียนการสอน เนื่องจากเป็นการยากที่เจ้าหน้าที่จะติดตามและรวบรวมหลักฐานการประพฤติมิชอบ ประกาศที่ออกโดยกระทรวงศึกษาธิการเมื่อปีที่แล้วเรียกร้องให้มีการตรวจสอบในชุมชนและบังคับใช้กฎหมายกับบรรดาติวเตอร์เถื่อนเหล่านี้
นายฉง กล่าวเพิ่มเติมว่า การกระทำความผิดประเภทใดที่จะนำไปสู่การลงโทษอย่างหนักและหน่วยงานใดที่มีหน้าที่กำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎระเบียบดังกล่าว ร่างใหม่สามารถเสนอแนวทางเพื่อเป็นระเบียบข้อบังคับในการบริหารจัดการที่เป็นมาตรฐานมากขึ้นสำหรับการสอนพิเศษหลังเลิกเรียน