งานกาล่าเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตคนจีน
งานกาล่าเทศกาลฤดูใบไม้ผลิหรืองานกาล่าฉลองตรุษจีนเป็นงานประจำปีที่จัดขึ้นโดยสถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีนหรือซีซีทีวี (CCTV) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาได้จัดให้มีการซ้อมครั้งที่ 3 เพื่อให้การแสดงต่าง ๆ สมบูรณ์แบบ ทั้งการร้อง การเต้น กายกรรม ตลก และละครสั้นเรื่องจริงจากชีวิตประจำวันของคนทั่วไป นอกจากนักแสดงและศิลปินมืออาชีพแล้ว บุคคลทั่วไปจากทุกสาขาอาชีพก็มีส่วนร่วมในการแสดงเพื่อให้เป็น “งานกาล่าเพื่อประชาชน” อย่างแท้จริง
เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 ได้มีการเผยแพร่เพลง Hello Strangers เพลงแรกที่เขียนขึ้นสำหรับงานกาล่าทางออนไลน์และมีผู้เข้าชมมากกว่า 60 ล้านครั้ง ในมิวสิควิดีโอได้นำเสนอช่วงเวลาที่เรียบง่ายและความประทับใจของผู้คนที่ได้รับความช่วยเหลือจากคนแปลกหน้า อย่างเช่น คนที่เดินผ่านไปมาให้กำลังใจชายคนหนึ่งที่กำลังร้องไห้อยู่ริมถนนโดยให้กำลังใจว่าทุกอย่างจะดีขึ้น หรือตอนที่ผู้ขายยื่นร่มให้ผู้หญิงคนหนึ่งในวันที่ฝนตก และเธอคืนให้ในหลายวันต่อมา และยืนกรานที่จะตอบแทนความมีน้ำใจของเขาด้วยผลไม้เพื่อเป็นการขอบคุณ
โดยบนเวทีในคืนวันงานจะมีการแสดงที่ดัดแปลงจากมิวสิกวิดีโอที่เป็นผู้แสดงชุดเดียวกันซึ่งมีมีจำนวนมากและมีการซ้อมครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ วันตรุษจีนปีนี้ตรงกับวันที่ 22 มกราคม ถือเป็นเทศกาลตามประเพณีที่สำคัญที่สุดของชาวจีน และงานกาล่าจะจัดขึ้นในวันก่อนวันตรุษจีน มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นและเผยแพร่เสน่ห์ของวัฒนธรรมจีนดั้งเดิม
การแสดงในงานปีนี้จะนำเสนอเรื่องราวของสัตว์ร้ายในตำนานที่ออกแบบบนพื้นฐานของวรรณกรรมคลาสสิกโบราณ เช่นสื่อจี้ (史記-Shiji) หรือที่รู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษ Records of the Grand Historian ซึ่งเป็นรากฐานของประวัติศาสตร์จีนย้อนหลังไปถึงศตวรรษที่หนึ่งก่อนคริสต์ศักราช และเป้าผูจื่อ(抱朴子- Baopuzi) หรือที่รู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษ The Book of The Master Who Embraces Simplicity หนังสือของเก่อหง (葛洪-Ge Hong) นักวิชาการลัทธิเต๋าและผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์จากราชวงศ์จิ้นตะวันออก (พ.ศ.860-963)
ด้วยการใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง สัตว์ร้ายต่างๆ รวมถึง เหนียนสัตว์ในตำนานที่เป็นมงคลซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี กิเลนหรือฉีหลินสัตว์ในตำนานที่โอบอุ้มความโชคดีและความเจริญรุ่งเรือง และปี่เซี๊ยะสัตว์รูปสิงโตที่สามารถเปลี่ยนภัยพิบัติให้กลายเป็นพร แสดงโดยเด็กๆ นำมาซึ่งความมีชีวิตชีวาที่มาจากการผสมผสานระหว่างโบราณและสมัยใหม่
ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า จะมีการซ้อมการแสดงอีกหลายรายการก่อนที่จะมีการถ่ายทอดสดออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีนหรือซีซีทีวีในช่วงค่ำวันที่ 21มกราคมซึ่งเป็นวันส่งท้ายปีเก่าและวันที่ 22 มกราคมเป็นวันปีใหม่เริ่มต้นของปีเถาะ(ตามปฏิทินจีน) กระต่ายเป็นสัตว์ตัวที่สี่ตามนักษัตรจีน
นางอี๋ เหลย (Yu Lei) ผู้อำนวยการทั่วไปของงานกาล่ากล่าวถึงมาสคอตกระต่ายอ้วน“ถูหยวนหยวน” ซึ่งเป็นมาสคอตประจำปีนี้ในงานที่จัดขึ้นในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา โดยระบุว่าเป็นมาสคอตที่มีชีวิตชีวาด้วยดวงตาที่สดใส ฟันหน้าทั้งสี่ซี่ที่ออกแบบตามภาพจำลองของมิโมโทนะ วานะ ซึ่งเป็นฟอสซิลสัตว์คล้ายกระต่ายที่มีอายุถึง 62 ล้านปี ซึ่งพบในมณฑลอันฮุยเมื่อปี พ.ศ.2520 เธอระบุด้วยว่า เป็นครั้งแรกที่มีการสำรวจความชอบของชาวเน็ตที่มีต่อ“ถูหยวนหยวน”ด้วยเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า มันมีนัยยะและความงามของกระต่ายในวัฒนธรรมจีนแบบดั้งเดิม และแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางวิชาการของนักวิทยาศาสตร์จีน
การแสดงวิทยายุทธจีนที่มีนักเรียนเกือบ 100 คนจากโรงเรียนศิลปะการต่อสู้ในเมืองเติ้งเฟิ่ง มณฑลเหอหนาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดเส้าหลิน ได้มาร่วมการซ้อมครั้งที่สามด้วย
คนดังของจีนเช่น หยาง จื่อ(ดารา-นักร้อง) อู๋ เหลย(นักฟุตบอล) หม่า ลี่(ดารา-นักร้อง)และ ซา อี้(นักแสดง)ก็ร่วมการซ้อมครั้งที่สามด้วย