บทวิเคราะห์: จีนใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อทำให้โลกมีความมั่นคงยิ่งขึ้น
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในโอกาสครบรอบหนึ่งปีที่รัสเชียใช้ “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ต่อยูเครน กระทรวงการต่างประเทศจีนได้เผยแพร่เอกสาร “จุดยืนของจีนเกี่ยวกับการแก้ไขวิกฤตยูเครนทางการเมือง” เห็นได้ชัดว่านี่เป็นการใช้ความพยายามครั้งสำคัญของจีนในการผลักดันการแก้ไขวิกฤตยูเครนทางการเมือง สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ของจีนในการสร้างโลกที่มีความมั่นคงยิ่งขึ้น
การสู้รบด้วยกำลังทหารระหว่างรัสเซียกับยูเครนในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาก่อให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นภัยพิบัติอย่างหนักหนาสาหัสสำหรับประชาชนชาวยูเครน ขณะเดียวกัน ก็ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั่วโลกด้วย ทำให้เกิดวิกฤตพลังงานและอาหาร ตลอดจนปัญหาเงินเฟ้อและอื่นๆ และในปัจจุบันสิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการรักษาสถานะความเป็นเจ้าโลกและทำให้รัสเซียอ่อนแอลง สหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นผู้นำและเกลี้ยกล่อมประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ให้ความช่วยเหลือทางทหารขนานใหญ่แก่ยูเครนต่อไป ซึ่งอาจทำให้การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนยืดเยื้อบานปลายยิ่งขึ้น กระทั่งมีคนเตือนแล้วว่าไม่อาจตัดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ได้ เห็นได้ชัดว่าวิกฤตยูเครนกำลังทำให้ความมั่นคงปลอดภัยของทั่วโลกถูกสั่นคลอนอย่างหนักจากความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่ไม่เคยมีมาก่อนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
เอกสารแสดงจุดยืนที่ออกโดยจีนในครั้งนี้มีเนื้อหามากกว่า 1,200 คำ ซึ่งครอบคลุมถึง 12 ด้านอันได้แก่ การเคารพอธิปไตยของทุกประเทศ การละทิ้งแนวคิดสงครามเย็น การหยุดยิงและการยุติสงคราม การเริ่มต้นการเจรจาสันติภาพ การแก้ไขวิกฤตด้านมนุษยธรรม การปกป้องพลเรือนและเชลยศึก การรักษาความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ การลดความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ การประกันการขนส่งอาหารระหว่างประเทศ การหยุดการคว่ำบาตรโดยลำพังฝ่ายเดียว การประกันเสถียรภาพของห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทาน และการขับเคลื่อนการฟื้นฟูหลังสงคราม
เอกสารดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงหลักการสำคัญที่จีนยึดมั่นมาโดยตลอด เช่น “วัตถุประสงค์และหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติควรมีการนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด” “ความมั่นคงของประเทศใดประเทศหนึ่งต้องได้มาโดยไม่ทำลายความมั่นคงของประเทศอื่น” “การคว่ำบาตรโดยลำพังฝ่ายเดียวและการใช้แรงกดดันขั้นสูงสุดไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้” “ไม่ควรใช้อาวุธนิวเคลียร์และไม่ควรทำสงครามนิวเคลียร์เป็นอันขาด” ฯลฯ ในขณะเดียวกันก็มีการเสนอแนวคิดและข้อเสนอสำหรับการคลี่คลายปัญหาที่เป็นรูปธรรม เช่น “ฟื้นฟูการเจรจาโดยตรงโดยเร็วที่สุด” “ตั้งระเบียงมนุษยธรรมสำหรับอพยพพลเรือนออกจากเขตสู้รบ” “ให้การเข้าถึงด้านมนุษยธรรมที่รวดเร็ว ปลอดภัย และไร้อุปสรรค” ฯลฯ
นับตั้งแต่วิกฤตยูเครนทวีความรุนแรงขึ้นในทุกด้าน จีนได้แสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ด้วยวิธีของตนเองเพื่อผ่อนคลายสถานการณ์และแก้ไขวิกฤต และยืนหยัดส่งเสริมสันติภาพและการเจรจามาโดยตลอด ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนได้จัดการหารือทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์กับผู้นำฝ่ายที่เกี่ยวข้องหลายครั้งเพื่อผลักดันการแก้ไขวิกฤตอย่างเต็มที่
เดือนเมษายนปี 2565 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงได้เสนอข้อริเริ่มว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยทั่วโลก ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อขจัดต้นตอของความขัดแย้งระหว่างประเทศ ปรับปรุงธรรมาภิบาลด้านความมั่นคงของโลก ผลักดันให้ประชาคมระหว่างประเทศร่วมกันเพิ่มเสถียรภาพความมั่นคงให้มากยิ่งขึ้นในท่ามกลางการปะทะความปั่นป่วนวุ่นวายเพื่อบรรลุเป้าหมายสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก จนถึงปัจจุบันมีกว่า 80 ประเทศและองค์กรระดับภูมิภาคแสดงความชื่นชมและสนับสนุน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จีนยังได้เผยแพร่ “เอกสารเกี่ยวกับแนวคิดข้อริเริ่มว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยของทั่วโลก” ซึ่งอธิบายแนวคิดหลักและหลักการของข้อริเริ่มดังกล่าว และได้ชี้แจงทิศทาง กลไกและแพลตฟอร์มในการดำเนินความร่วมมือที่สำคัญด้วย
เมื่อเร็วๆนี้ ขณะกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมความมั่นคงมิวนิกที่เยอรมนี นายหวัง อี้ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เน้นย้ำว่า การสร้างโลกที่มีเสถียรภาพทางความมั่นคงยิ่งขึ้นเป็นเป้าหมายที่แน่วแน่และไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดของจีน การที่จีนยืนหยัดที่จะเดินบนหนทางการพัฒนาอย่างสันตินั้นเป็นทางเลือกทางยุทธศาสตร์หลังจากพิจารณาอย่างลึกซึ้งถึงประวัติศาสตร์ ปัจจุบัน และอนาคต จีนจะแน่วแน่ในความสามัคคีกับประเทศต่างๆจำนวนมากยิ่งขึ้นเพื่อร่วมกันเดินบนหนทางการพัฒนาอย่างสันติ ตราบใดที่พลังของจีนเพิ่มมากขึ้น ตราบนั้นความหวังในสันติภาพของโลกก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย หากทุกประเทศมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอย่างสันติ อนาคตของมวลมนุษยชาติก็จะสดใสอย่างแน่นอน
ประชาคมระหว่างประเทศโดยทั่วไปต่างชื่นชมแนวทางการแก้ไขวิกฤตทางการเมืองที่จีนเสนอขึ้นในครั้งนี้ โดยเห็นว่าไม่เพียงแต่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสองฝ่ายที่ปะทะกันเท่านั้น หากยังตอบโจทย์ความกังวลร่วมกันของประชาชนทุกประเทศอีกด้วย