จีนใช้นวตกรรมทางเทคโนโลยี เสริมการปกป้องทรัพยากรน้ำ

(People's Daily Online)วันศุกร์ 24 มีนาคม 2023

นกกระเรียนคอดำเดินเล่นในพื้นที่ชุ่มน้ำ สะท้อนภาพผืนน้ำใส แกะกว่า 200 ตัวกำลังเดินเล่นบนเนินเขาริมฝั่งแม่น้ำแยงซีเกียง

ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลสดจากระบบเฝ้าระวังติดตามทรัพยากรน้ำและสัตว์ป่าที่จัดตั้งขึ้นในพื้นที่ซานเจียงหยวน ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำแยงซี แม่น้ำเหลือง และแม่น้ำหลานชาง(แม่น้ำโขง)

ระบบประกอบด้วยกล้องวิดีโอที่จุดสังเกตการณ์หลายจุด เครือข่ายส่วนตัวที่อนุญาตฟีดวิดีโอแบบเรียลไทม์ และแพลตฟอร์มการจัดการและควบคุม ซึ่งรวมกันเป็นส่วนสำคัญของเครือข่ายการเฝ้าระวังติดตามระบบนิเวศในซานเจียงหยวน


ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2565 แสดงทิวทัศน์ของทะเลสาบจาหลิง (Gyaring Lake) ซึ่ง
เป็นต้นน้ำของแม่น้ำเหลืองในอุทยานแห่งชาติซานเจียงหยวน มณฑลชิงไห่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือ
ของจีน (ซินหัว/หลิว เส่วลี่)

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้เพิ่มความเข้มแข็งในการปกป้องทรัพยากรน้ำอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการสร้างอนาคตสีเขียว อันสวยงามและยั่งยืน ในกระบวนการ นวัตกรรมทางเทคโนโลยีล่าสุดนี้มีส่วนสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการจัดการทรัพยากรน้ำ

เขตปกครองตนเองชาวทิเบต อวี้ชู่ (Yushu) ของมณฑลชิงไห่ซึ่งบริหารพื้นที่ส่วนหนึ่งของซานเจียงหยวนส่งน้ำสะอาดประมาณ 29,700 ล้านลูกบาศก์เมตรไปยังพื้นที่ท้ายน้ำโดยเฉลี่ยทุกๆ ปี ที่นี่เป็นที่ตั้งของระบบธารน้ำแข็งบนภูเขาที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในโลก ที่ซึ่งธารน้ำแข็ง ภูเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะและพื้นที่ชุ่มน้ำบนที่สูงมีบทบาทสำคัญต่อการอนุรักษ์ต้นน้ำ จุดเริ่มต้นของแม่น้ำ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขตอวี้ชู่ใช้เงินมากกว่า 8 ล้านหยวน (ประมาณ 1.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในการสร้างระบบเฝ้าระวังดังกล่าว ดอร์กา หัวหน้าสำนักนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมอวี้ชู่กล่าว และเสริมว่าได้จัดตั้งจุดสังเกตการณ์ 35 จุดในเขตปกครองตนเอง

ดอร์กากล่าวว่า “ระบบได้จัดหาเครื่องมือสังเกตการณ์และวิเคราะห์ในสถานที่อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องแหล่งน้ำ แก้ปัญหาการตอบสนองที่ล่าช้า ค่าใช้จ่ายสูง และข้อจำกัดเรื่องการครอบคลุมพื้นที่ด้วยการลาดตระเวนของมนุษย์”


ภาพถ่ายทางอากาศ ถ่ายเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2564 แสดงเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนในอุทยานแห่ง
ชาติซานเจียงหยวนในเขตปกครองตนเองทิเบตโกล็อก มณฑลชิงไห่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
(ซินหัว/จางหลง)

ทางตอนเหนือของประเทศจีน แม่น้ำไห่เหอซึ่งขนานนามว่าเป็น “มารดาแห่งแม่น้ำ” ของเทศบาลนครเทียนจิน มีบทบาทสำคัญในการปล่อยปริมาณน้ำท่วม การกักเก็บน้ำ และสิ่งแวดล้อมของเมือง

หลังจากวางเรือไร้คนขับสีขาวความยาวประมาณ 1 เมตรบนแม่น้ำไห่เหอแล้ว เหมย เผิงเวยก็เริ่มตรวจสอบภาพโซนาร์ที่เรือส่งกลับมาบนแล็ปท็อปขณะมุ่งหน้าไปยังใจกลางแม่น้ำ     เหมยทำงานในศูนย์เฝ้าระวังตรวจสอบสิ่งแวดล้อมและชีวนิเวศ นครเทียนจิน ตั้งแต่ปี 2562 เธอ และเพื่อนร่วมงานได้ติดตามตรวจสอบสภาพของแม่น้ำไห่เหอและแม่น้ำสาขาเป็นประจำ

ในปี 2560 คุณภาพน้ำของแม่น้ำ 12 สายในเทียนจิน รวมถึงแม่น้ำสายหลักของแม่น้ำไห่เหอ อยู่ในระดับต่ำกว่าระดับ 5 ซึ่งหมายความว่า มีมลพิษมากเกินไปสำหรับใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด ๆ ซึ่งรวมถึงการชลประทานด้วย


ภาพถ่ายทางอากาศ ถ่ายเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2565 แสดงสะพานข้ามแม่น้ำไห่เหอในเทียนจิน
ทางตอนเหนือของจีน (ซินหัว/ซุน ฟานเยว่)

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นเริ่มรณรงค์ต่อต้านมลพิษทางน้ำโดยใช้อุปกรณ์ขั้นสูง รวมถึงเรือไร้คนขับที่ติดตั้งเครื่องโซนาร์ ยานพาหนะทางอากาศไร้คนขับ (UAV) และการสำรวจระยะไกลผ่านดาวเทียม

“เนื่องจากบางส่วนของแม่น้ำมีความกว้างหลายร้อยเมตรและมีหนองน้ำและหญ้าอยู่ริมตลิ่ง จึงเป็นเรื่องยากมากที่ผู้ตรวจสอบของเราจะลงไปในแม่น้ำได้” เกา ไค วิศวกรอาวุโสของศูนย์ฯ กล่าว อธิบายถึงความจำเป็นของอุปกรณ์ไร้คนขับ     ตามที่เกาแจ้ง UAV สามารถแสดงภาพถ่ายหรือวิดีโอตามเวลาจริงของสภาพแม่น้ำและระบุตำแหน่งมลพิษบนพื้นผิวแม่น้ำได้ ในขณะที่เรือไร้คนขับสามารถระบุตำแหน่งของท่อน้ำเสียใต้น้ำผ่านการตรวจจับด้วยเครื่องโซนาร์

หลังจากตรวจพบกรณีสงสัยว่าเป็นมลพิษ ผู้เชี่ยวชาญในการเฝ้าติดตามต้องอาศัยการสำรวจระยะไกลผ่านดาวเทียมเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานประกอบการ ย่านที่อยู่อาศัย และย่านธุรกิจที่อยู่ใกล้เคียง ก่อนที่จะทำการศึกษานอกสถานที่เพื่อระบุแหล่งที่มาของมลพิษ เกากล่าวเสริม

“ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยี เราได้ดำเนินการตรวจสอบแหล่งที่มาของมลพิษ ในขณะเดียวกันก็ตรวจสอบคุณภาพน้ำและชีววิทยาทางน้ำในลักษณะที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น” เหมยกล่าว

ปัจจุบัน คุณภาพน้ำของแม่น้ำ 12 สายในเทียนจินดีขึ้นอย่างมาก โดยยกระดับเป็นระดับทั่วไป 4 ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้งานทางการเกษตรและอุตสาหกรรมบางประเภท


ภาพถ่ายทางอากาศนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2565 แสดงทิวทัศน์ของ Nandi Coastal Trail Park
ในเมืองเชิงนิเวศเทียนจินของจีน-สิงคโปร์ ณ เขตใหม่ปินไห่ ทางตอนเหนือของนครเทียนจินของจีน (ซินหัว)

การพัฒนาเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือยังช่วยให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนประชาชนทั่วไปมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพและสะดวกในการจัดการกับการละเมิดด้านสิ่งแวดล้อม

ในเมืองเซียงถาน มณฑลหูหนาน หน่วยงานท้องถิ่นได้ส่งเสริมระบบการจัดการทรัพยากรน้ำแบบใหม่และทันสมัย ซึ่งอาศัยเทคโนโลยีเคลื่อนที่เป็นส่วนใหญ่     พวกเขาเป็นผู้นำในจังหวัดในการพัฒนาแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ของระบบน้ำของเมืองและแอปพลิเคชัน (App) มือถือที่เรียกว่า “การจัดการน้ำอัจฉริยะ” ซึ่งช่วยให้ติดตามสถานการณ์แม่น้ำได้อย่างง่ายดายด้วยการแตะเพียงไม่กี่ครั้ง

จาง เชาชวิน หัวหน้าเขตรักษาแม่น้ำที่ดูแลส่วนที่ยาว 8.8 กม. ของแม่น้ำเซียงเจียง ซึ่งไหลผ่าน เมืองเซียงถาน เขาลาดตระเวนส่วนนี้ทุกวันตั้งแต่ปี 2560

ทุกครั้งที่เขาตรวจพบปัญหา เช่น มลพิษในแม่น้ำหรือการประมงที่ผิดกฎหมาย จางจะถ่ายภาพตรงจุดนั้นและอัปโหลดข้อมูลที่เกี่ยวข้องผ่าน App บนอุปกรณ์เคลื่อนที่ หลังจากหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและแก้ไขปัญหาแล้ว เขาจะได้รับข้อเสนอแนะผ่านทาง App เสมอ

“App นี้สะดวกมาก การละเมิดมักจะได้รับการแก้ไขภายใน 5 วันทำการ” จางกล่าว พร้อมเสริมว่า มันช่วยให้หัวหน้าเขตรักษาแม่น้ำอย่างเขาปฏิบัติหน้าที่ได้ดีขึ้น