รู้หรือไม่? เทศกาลใดที่หลายประเทศฉลองเหมือนกัน
เทศกาลสงกรานต์ในไทย (ภาพ/CFP)
เทศกาลสงกรานต์ นับเป็นเทศกาลฉลองการขึ้นปีใหม่ที่มีเอกลักษณ์และประเพณีอันยาวนาน โดยนอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีหลายประเทศบนโลกที่มีการฉลองเทศกาลนี้ เช่น ชนกลุ่มน้อยชาวไตในมณฑลยูนนานของจีน กัมพูชา ลาว เมียนมา ศรีลังกาและทางตะวันออกของอินเดีย โดยในแต่ละประเทศก็มีประเพณีการฉลองสงกรานต์และรูปแบบที่แตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่จะมีกิจกรรมร่วมเหมือนกันนั่นคือ การใช้ “น้ำ” เป็นสื่อสำคัญเพื่ออวยพรซึ่งกันและกัน
คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต หมายถึง “เคลื่อนย้ายเข้าไป” นั่นคือการที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีหนึ่งเข้าสู่อีกราศีหนึ่ง เปรียบเสมือนการก้าวเข้าสู่ปีใหม่ ตามความเชื่อคติพราหมณ์ วันที่ 13 เมษายนถือเป็น “วันมหาสงกรานต์” คือวันที่พระอาทิตย์ก้าวเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งเป็นราศีแรกของปี วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันเนา” คือวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าอยู่ราศีเมษประจำที่เรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 15 เมษายน เรียกเป็น “วันเถลิงศก” ถือเป็นวันขึ้นศักราชใหม่ เพราะดวงอาทิตย์ได้ก้าวเข้าสู่ราศีเมษอย่างน้อย 1 องศาแล้ว
เทศกาลสงกรานต์ในไทย (ภาพ/CFP)
วันสงกรานต์ เทศกาลแห่งสีสันและปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย
มีความเชื่อว่าประเพณีสงกรานต์ของไทยได้รับอิทธิพลมาจากเทศกาลโฮลี หรือ เทศกาลแห่งสีสันของอินเดียที่มีการสาดผงสี เชื่อกันว่าเป็นการปัดเป่าเชื้อโรคร้ายให้ออกจากร่างกายเรา ต่อมาได้แพร่ขยายไปยังที่ต่าง ๆ ในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีน ซึ่งได้ถือเอาเทศกาลสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ ทั้งนี้ในแต่ละพื้นที่ก็มีการปรับเปลี่ยนการฉลองตามความเหมาะสม โดยวันสงกรานต์ของไทยใช้การรดน้ำเพราะอากาศที่ร้อนจัดในเดือนเมษายน และมีความเชื่อว่าการสาดน้ำเป็นการนำพาสิ่งที่ไม่ดีต่าง ๆ ออกจากชีวิต
เทศกาลสงกรานต์ในไทย (ภาพ/CFP)
แตกต่างเพียงพื้นที่ ร่วมฉลองเหมือนกัน
การฉลองสงกรานต์ในไทย วันสงกรานต์ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึงเมื่อ พ.ศ. 2483 ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ทางราชการได้กำหนดให้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินสากล นอกเหนือจากการเล่นสาดน้ำปะแป้งตามท้องถนนและสถานที่ต่าง ๆ แล้ว ยังมีธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติกันในครอบครัวและที่วัดมาตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น การสรงน้ำพระพุทธรูป เพื่อความเป็นสิริมงคลต้อนรับปีใหม่ รวมถึงการทำบุญตักบาตรไหว้พระ การรดน้ำผู้ใหญ่ เป็นการอวยพรให้ผู้ใหญ่ที่เคารพ เช่น พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์ การขนทรายเข้าวัด ด้วยความเชื่อที่ว่าในสมัยก่อนเมื่อผู้คนไปวัดเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ขณะที่เดินจากวัดอาจนำทรายติดเท้าออกไปด้วย ดังนั้นการก่อเจดีย์ทราย หรือขนทรายเข้าวัดจึงเปรียบได้กับนำทรายไปคืนวัดเพื่อให้พระสงฆ์ได้นำทรายไปใช้ประโยชน์
การแสดงรำของชาวเมียนมาร์เพื่อฉลองเทศกาลสงกรานต์ (ภาพ/CFP)
การฉลองสงกรานต์ในเมียนมา เรียกว่า Thingyan หรือ ตะจาน ตรงกับวันที่ 13-17 เมษายน ในสมัยก่อนมีเพียงการประพรมน้ำในขันเงินเท่านั้น แต่ต่อมาได้เริ่มมีการสาดน้ำ เล่นน้ำตลอดทั้ง 5 วันก่อนวันขึ้นปีใหม่ ถือเป็นเทศกาลอันเป็นมงคล ผู้คนจะออกมาทำบุญ สรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระเจดีย์ และรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่
การฉลองสงกรานต์ในลาว ลักษณะพิธีกรรมคล้ายปีใหม่เมืองทางภาคเหนือของไทย โดยจัดในวันที่ 14-16 เมษายนของทุกปี วันแรกคือ “วันสังขารล่วง” เป็นวันทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีออกไปและรับสิ่งใหม่เข้ามา วันที่สองคือ “วันเนา” วันครอบครัว ญาติพี่น้องมารวมตัวกันเพื่อบายศรีสู่ขวัญให้ผู้ใหญ่ ส่วนวันที่สามคือ “วันสังขารขึ้น” หรือวันปีใหม่ จะมีการบายศรีสู่ขวัญ อวยพรซึ่งกันและกัน รวมถึงมีการสรงน้ำพระและการแห่นางสงกรานต์ของลาว
เทศกาลสงกรานต์ในลาว (ภาพ/CFP)
การฉลองสงกรานต์ในกัมพูชา จัดขึ้นวันที่ 14-16 เมษายน ผู้คนจะแต่งตัวด้วยดอกไม้และเครื่องหอมและทำความสะอาดบ้านเรือน มีการถวายอาหารพระ ขนทรายเข้าวัด ก่อเจดีย์ทราย เติมน้ำในตุ่มที่วัดให้เต็ม และในวันขึ้นศักราชใหม่จะนิมนต์พระมาสวดให้พร สรงน้ำพระพุทธรูปโดยใช้น้ำอบ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และมีการละเล่นต่าง ๆ บริเวณวัด
เทศกาลสงกรานต์ถือเป็นประเพณีที่ดีงามในการฉลองวันขึ้นปีใหม่ร่วมกันของหลายประเทศที่มีเอกลักษณ์งดงามและสำคัญยิ่ง สิ่งเหล่านี้จะยังคงอยู่ตลอดไปด้วยความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจของคนในประเทศในการจัดงานฉลอง อนุรักษ์และสืบทอดประเพณีที่ดีงาม