ชายสร้างอวาตาร์ของคุณย่าผ่าน AI เป็นที่ถกเถียงบนโลกออนไลน์
อู๋ อู่หลิว สร้างคุณย่าผู้ล่วงลับของเขาในเวอร์ชันดิจิทัลจากเทคโนโลยี AI
ชายชาวเซี่ยงไฮ้คนหนึ่งเพิ่งอัปโหลดวิดีโอที่เขาใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สร้างคุณย่าผู้ล่วงลับของเขาในเวอร์ชันดิจิทัล เว็บไซต์ yangtse.com รายงานเมื่อวันจันทร์
ชายวัย 24 ปี ใช้ชื่อว่า WuWuliu บน Bilibili หนึ่งในแพลตฟอร์มแบ่งปันวิดีโอที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในจีน เขาโพสต์วิดีโอเพื่อเป็นที่ระลึกถึงคุณย่าของเขาที่เพิ่งเสียชีวิตเมื่อเดือนมกราคม เขากล่าวว่าคุณย่าเลี้ยงดูเขาตั้งแต่ยังเป็นเด็กและเขามีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับคุณย่า และเสริมว่าเขามีโอกาสพูดคุยกับคุณย่าเพียงไม่กี่คำในช่วงวันสุดท้ายของเธอ และไม่สามารถรับมือกับความสูญเสียได้
ในฐานะนักออกแบบภาพ อู๋มีความคิดที่จะ “พาคุณย่ากลับมา” โดยเลียนแบบรูปร่างหน้าตา เสียง บุคลิก และความทรงจำของเธอผ่านแอปพลิเคชัน AI เขาอัปโหลดรูปถ่ายของคุณย่าหลายภาพเข้าสู่โปรแกรมเพื่อสร้างอวาตาร์ที่เหมือนจริง และอัปโหลดข้อความเสียงของคุณย่าเพื่อจำลองเสียงและสำเนียงของเธอ ในที่สุด เขาก็เปลี่ยนภาษา AI ให้กลายเป็นบทสนทนาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเขากับคุณย่าของเขา
“คุณย่า” สามารถกระพริบตา พยักหน้า และแม้กระทั่งหัวเราะอย่างสนุกสนาน เมื่ออู๋ถามคุณย่าว่า เตรียมของไว้สำหรับเทศกาลตรุษจีนหรือยัง เธอตอบว่า “ฉันซื้อน้ำมันมาสองขวดและมันก็รสชาติดีมาก”
เมื่ออู๋ถามคุณย่าว่า คุณย่าพูดอะไรกับคุณพ่อของเขาเมื่อตอนเธอมีชีวิตอยู่ เธอตอบว่า “ฉันบอกให้เขาอย่าดื่มเหล้าเยอะ ประหยัดเงินและเลิกเล่นพนัน”
เมื่อได้ “คุยกับคุณย่า” เขาบอกว่ามันช่วยคลายความเจ็บปวดของการสูญเสียเธอ ซึ่งเขาก็รู้ว่ามันเป็นภาพลวงตาที่ช่วยให้รู้สึกดีขึ้น
กระแสตอบกลับของชาวเน็ตมีหลากหลาย บางคนสนับสนุนอู๋ เพราะว่าเราเป็นมนุษย์ การได้ติดต่อสื่อสารอีกครั้งกับคนรักที่เสียชีวิตไปผ่านเทคโนโลยี AI สามารถช่วยให้พวกเขารู้สึกดีขึ้น ส่วนบางคนคิดว่าการสร้างอวาตาร์เช่นนี้ ช่างไร้สาระและอาจจะทำให้คนติดกับอยู่ในความทรงจำของพวกเขา
“ในแง่ทางจิตวิทยา เมื่อเทียบกับสิ่งของดั้งเดิม เช่น ภาพถ่ายมรณกรรมและทรัพย์สินส่วนตัว เทคโนโลยี AI สามารถรักษาภาพลักษณ์และบุคลิกภาพของบุคคลที่ล่วงลับได้ดีกว่า และช่วยให้ผู้ที่โศกเศร้าสบายใจขึ้น” เฉิน จื้อหลิน ที่ปรึกษาด้านจิตวิทยาระดับชาติกล่าว
“อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการพึ่งพามันมากเกินไป ที่สำคัญกว่านั้น เราต้องเรียนรู้ที่จะทะนุถนอมช่วงเวลาในปัจจุบัน”