การแต่งงานช้าและการมีบุตร ปัจจัยสำคัญต่ออัตราการเกิดต่ำ
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจีนกล่าวเมื่อวันอังคารว่า เห็นได้ชัดว่าคนจีนอยากจะมีลูกน้อยลงด้วยเหตุผลที่ต้องการให้สภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดในการเลี้ยงดูเด็ก ๆ ทั้งนี้ ทางสาธารณสุขจะพยายามมากขึ้นในการกระตุ้นให้วัยหนุ่มสาวแต่งงานและมีลูกในวัยที่เหมาะสม
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้ให้ความเห็นตามคำแนะนำของที่ปรึกษาการเมืองระดับชาติว่าควรมีมาตรการแนะนำคนหนุ่มสาวให้แต่งงานและมีลูกตั้งแต่อายุยังน้อย
เชื่อว่าการแต่งงานและการมีบุตรล่าช้าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้อัตราการเกิดต่ำของประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ปีที่แล้ว จีนมีประชากรลดลงเป็นครั้งแรกในรอบประมาณ 6 ทศวรรษ กระตุ้นให้เกิดกระแสเรียกร้องให้เพิ่มนโยบายสนับสนุนเพื่อเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์
ประเทศจีนเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่อายุของผู้สามารถจดทะเบียนสมรสสูงที่สุดในโลก โดยผู้ชายต้องมีอายุตั้งแต่ 22 ปีขึ้นไป และผู้หญิงมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป
ส่วนหนึ่งของนโยบายการวางแผนครอบครัวที่มีผลบังคับใช้ในช่วงปี 2523 ถึง 2558 คนจีนได้รับการสนับสนุนให้แต่งงานและมีลูก ซึ่งมักจะหมายถึงการแต่งงานที่อายุ 23 ปีขึ้นไปสำหรับผู้หญิง และที่อายุ 25 ปีขึ้นไปสำหรับผู้ชาย
คณะกรรมการฯ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2558 บทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งเสริมให้มีการแต่งงานล่าช้าและการสืบพันธุ์ถูกลบออกจากกฎหมายว่าด้วยประชากรและการวางแผนครอบครัวและระเบียบข้อบังคับการวางแผนครอบครัวในท้องถิ่น นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศก็ไม่รวมข้อความดังกล่าว
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าในปี 2560 อายุเฉลี่ยของการแต่งงานครั้งแรกของผู้หญิงในจีนอยู่ที่ 25.7 ปี และอายุเฉลี่ยสำหรับการมีลูกคนแรกคือ 26.8 ปี
“ตัวเลขทั้งสองสูงกว่าอายุการแต่งงานตามกฎหมายมาก และคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต นอกจากนี้ ภาระทางเศรษฐกิจ แรงกดดันในการเลี้ยงลูก และความกังวลเกี่ยวกับความก้าวหน้าในอาชีพเป็นปัจจัยสำคัญที่ขัดขวางอัตราการเกิดใหม่ในประเทศ”
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ไม่ได้ตอบรับโดยตรงต่อข้อเสนอของที่ปรึกษาทางการเมืองในการส่งเสริมการแต่งงานเร็ว แต่กล่าวว่า จะพยายามมากขึ้นในการเสริมสร้างคำแนะนำ และออกมาตรการสนับสนุนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เอื้ออำนวยมากขึ้นสำหรับผู้ที่แต่งงานแล้วและให้มีการเลี้ยงดูลูกในสภาพแวดล้อมที่น่าพึงพอใจ
เหอ ตัน หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาประชากรแห่งประเทศจีนกล่าวระหว่างการสัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า มุมมองเกี่ยวกับการคลอดบุตรอาจมีความหลากหลายมากขึ้นในอนาคต แต่การมีลูกน้อยลงและการดูแลสุขภาพของทารกแรกเกิดจะยังคงเป็นประเด็นหลัก
“เราสามารถออกมาตรการแทรกแซงตามนโยบายเพื่อตอบสนองความต้องการของครอบครัวที่ต้องการมีลูกมากขึ้น เพื่อรักษาอัตราการเจริญพันธุ์ให้คงที่มากที่สุดและหลีกเลี่ยงแนวโน้มที่ลดลงอย่างรวดเร็วเท่าที่จะเป็นไปได้” เธอกล่าว