เจ้าหญิงไทยสัมผัสวัฒนธรรมชาจีน

(People's Daily Online)วันพุธ 10 พฤษภาคม 2023

สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยได้จัดซาลอนวัฒนธรรมหย่าจี๋ ความกลมเกลียวจากชา เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่กรุงเทพฯ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาฯ เสด็จฯ เป็นแขกกิตติมศักดิ์ตามคำกราบบังคมทูลเชิญ

หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนและภริยาได้ต้อนรับ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาฯ โดยมีนายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศพร้อมด้วยภริยา ตามเสด็จฯ ด้วยพิธีชงชาที่นำเสนอโดยศิลปินจากโรงน้ำชาจือหยวนในเซินเจิ้น รวมทั้งมีการแสดงดนตรีพื้นบ้าน

แขกได้รับการต้อนรับด้วยชาขาวฝูเจี้ยนก่อนที่จะได้รับเชิญให้ร่วมเป็นสักขีพยานในการจิบชาหลงจิ่งจากทะเลสาบซีหู ซึ่งเป็นชาเขียวคั่วจากหางโจวทางตะวันออกของจีน และชาอูหลง Fenghuang Dancong จากมณฑลกวางตุ้งทางตอนใต้ของจีน

ผู้เข้าร่วมยังได้เรียนรู้ขั้นตอนการดื่มด่ำกับชา รวมทั้งการดมชา การสังเกตสี การลิ้มรสชาติชาและการใช้อุปกรณ์ชงชา รวมทั้งประโยชน์ของชาในแต่ละประเภท

นอกจากนี้ ชั่ว เฟิง นักออเครสต้าจีนจากเซินเจิ้นได้เแสดงดนตรีจีนดั้งเดิมบรรเลงเพลงพื้นบ้านหลายเพลง เช่น “เพลงประมงยามค่ำ” “เมฆตามพระจันทร์” และ “แข่งม้า” เป็นต้น

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงแสดงความขอบคุณต่อเอกอัครราชทูตหาน จื้อเฉียงสำหรับคำเชิญ พร้อมกับมีดำรัสว่า ความสัมพันธ์ไทย-จีนมีความใกล้ชิดดุจครอบครัวเดียวกัน และจะดียิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต

คำว่า หย่าจี๋ (Yaji) หมายถึง การรวบรวมความสง่างาม เป็นวิถีชีวิตของคนจีนโบราณในการดื่มด่ำกับชีวิตด้วยวัฒนธรรม ในงาน ผู้เข้าร่วมจะได้ท่องบทกลอน ชิมชา ชมภาพวาด ดอกไม้ กลิ่นธูปและฟังเครื่องดนตรีจีนโบราณ กู่ฉิน ดนตรีแห่งความสง่างาม ความละเอียดอ่อนทางศิลปะ และคุณธรรมอันสูงส่ง

งานระดับโลกได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงท่องเที่ยวและวัฒนธรรมจีน เป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองวันชานานาชาติ วันที่ 21 พฤษภาคม ซาลอนดังกล่าวถูกจัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างบทสนทนาอันเป็นมิตรและการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างอารยธรรม รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องวัฒนธรรมชารอบโลกด้วย

ในปี 2565 เทคนิคการชงชาแบบโบราณของจีนและการปฏิบัติทางสังคมที่เกี่ยวข้องได้รับการบันทึกในรายการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ทางมนุษยชาติขององค์การยูเนสโก