เฉิงตู “ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์”ของจีน
โดมในพิพิธภัณฑ์วัตถุโบราณจินชา ในเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ภาพถ่ายเมื่อ
วันที่ 10 มีนาคม 2566 (ซินหัว/จาง เยี่ยน)
โบราณวัตถุสำริดที่ดูเหมือนเป็นสิ่งธรรมดาจำนวน 3 ชิ้นที่พิพิธภัณฑ์วัตถุโบราณจินซา (Jinsha Site Museum) จากยุคจ้านกว๋อ (475-221 ปีก่อนคริสตกาล) ในประวัติศาสตร์จีน ได้รับความสนใจจากผู้คนมากมาย บนโบราณวัตถุเหล่านี้มีคำจารึกว่า “เฉิงตู” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ชื่อของเมืองเอกของมณฑลเสฉวนคงอยู่มาเป็นเวลากว่าสองพันปี
เฉิงตู เมืองที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ ที่ราบเฉิงตูได้รับการยกย่องว่าเป็นดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์มาช้านาน หล่อเลี้ยงอารยธรรมอันงดงามมาแต่สมัยโบราณ โดยปัจจุบันสามารถชมความงามของสถานที่ต่าง ๆ เช่น ซานซิงตุย และพิพิธภัณฑ์จินซา
ฤดูร้อนนี้ การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก FISU ครั้งที่ 31 จะจัดขึ้นที่เมืองเฉิงตู โดยสนามกีฬาหลักจะประดับลวดลายทอง“นกอมตะ”ที่ด้านบนสุดของอาคาร ซึ่ง“ดวงอาทิตย์และนกอมตะ” เป็นเครื่องสำริดทองที่ขุดพบจากบริเวณพิพิธภัณฑ์จินซา
จู จางอี้ ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์กล่าวว่า “แม้ว่าการประดับด้วยทองเป็นสิ่งที่ตกทอดมาจาก 3,000 ปีก่อน แต่ก็ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความงดงาม ความสามัคคีและความก้าวหน้า ซึ่งสอดขนานกับจิตวิญญาณของกีฬาในยุคใหม่”
การเกษตรในเฉิงตูพัฒนาอย่างรวดเร็วบนที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ และทำให้เมืองแห่งนี้ค่อยๆ พัฒนาเป็นเมืองการค้า ตู้ ฝู กวีเอกแห่งราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) บรรยายเมืองนี้ไว้อย่างแจ่มชัดว่าเป็น “มหานครที่คึกคักและมีชื่อเสียง” ซึ่งสะท้อนความเจริญรุ่งเรืองและความมีชีวิตชีวาของเมือง
ในช่วงราชวงศ์สุยและถัง (ค.ศ. 581-907) เฉิงตูเป็นเมืองทางการค้าที่มีชื่อเสียงที่สุดในจีน อยู่ในระดับความเจริญรุ่งเรืองที่ไม่ธรรมดา
สิ่งที่น่าสังเกตเป็นพิเศษคือชื่อเสียงของผ้าทอแบบเฉิงตู กลายเป็นสินค้าที่โดดเด่นที่สุดชิ้นหนึ่งบนเส้นทางสายไหม และยังเป็นที่มาของชื่อเล่นของเมืองนี้ว่า “เมืองแห่งผ้าทอ”
ด้วยมรดกอันมั่งคั่งของเมืองนี้ การผสมผสานศิลปะอันดั้งเดิมของผ้าทอเฉิงตูและการออกแบบอันทันสมัยจะปรากฎบนสายริบบิ้นของเหรียญรางวัลในงานกีฬาระดับโลกที่กำลังจะมาถึง เป็นตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมเก่าแก่นับพันปีของเฉิงตูที่สัมผัสได้