จีนใช้ศาสตร์การแพทย์แผนจีน “รมยา” ในช่วงร้อนจัด
คุณหมอกำลังติดสติ๊กเกอร์“ซานฝู” (แผ่นแปะที่ประกอบด้วยยาสมุนไพร) บนท้องของเด็กที่โรงพยาบาลแพทย์แผนจีนในเมืองหานตัน มณฑลเหอเป่ย
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (11 ก.ค.) ซึ่งเป็นวันแรกของ “ซานฝู” ช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดในฤดูร้อน ตามปฏิทินจันทรคติจีน “ซานฝู”คือระยะเวลาสิบวัน โดยนับ
สามครั้ง (รวม 30 วัน) เป็นช่วงที่ร้อนมากที่สุดในรอบปี หมอในการแพทย์แผนจีนเชื่อว่าการติดสติ๊กเกอร์ซานฝูในช่วงนี้จะมีผลดีต่อการรักษาโรคทั่วไป
ที่มักเป็นกันในฤดูหนาว เช่น ไอ หอบ และข้ออักเสบ (ซินหัว/ฮ่าว ฉวินอิง)
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา คลื่นความร้อนจัดแบบทำลายสถิติโจมตีภูมิภาคทางตอนเหนือของจีน รวมถึงกรุงปักกิ่ง นครเทียนจินและมณฑลเหอเป่ย
ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นเกิน 40 องศาเซลเซียส ศาสตร์การแพทย์แผนจีนในการรมยาซานฝู มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน และช่วยคลายความร้อนในร่างกาย ซึ่งในขณะนี้มีการเรียกร้องให้ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ใช้การบำบัดอย่างระมัดระวัง
การรมยาด้วยแผ่นซานฝูคือการใช้แผ่นพลาสเตอร์สมุนไพรอุ่นแปะไว้ที่จุดฝังเข็มในสามช่วงที่ร้อนที่สุด 30 วันตามปฏิทินจันทรคติจีน เพื่อเป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับฤดูหนาวและป้องกันการเจ็บป่วยต่าง ๆ ในช่วงฤดูหนาว เช่น ไข้หวัดและไอ
สถาบันวิจัยการแพทย์แผนจีน ประจำโรงพยาบาลกว่างอันเหมินกล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มเปิดระบบนัดหมายสำหรับการรมยาซานฝูเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ได้มีการจองมาแล้วมากกว่า 10,000 ครั้ง
หวาง อี ผู้อำนวยการแผนกการแพทย์แผนจีนที่ศูนย์สุขภาพในเขตไห่เตี้ยน กรุงปักกิ่ง กล่าวว่า “ประชาชนจำนวนกว่า 1,000 ราย ได้ทำการนัดหมายกับศูนย์ฯ เพื่อเข้ารับการบำบัดด้วยการแพทย์แผนจีน ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึงสองเท่า เราใช้แผ่นแปะเดียวกันกับที่ใช้ในโรงพยาบาล เพื่อให้บริการที่มีคุณภาพและสะดวกต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง”
สำนักบริหารการแพทย์แผนจีนประจำกรุงปักกิ่งระบุในประกาศที่ออกในปลายเดือนมิถุนายนว่า ควรจำกัดการใช้แผ่นแปะซานฝู สำหรับผู้มีโรคประจำตัวทางเดินหายใจและโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ รวมทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ และคนที่มีอาการไข้หวัด ไอเรื้อรังและหอบหืด
นอกจากนี้ ประกาศดังกล่าวยังระบุว่า ห้ามขยายขอบเขตการใช้ยาและกลุ่มเป้าหมายอย่างไม่สมเหตุสมผล เพื่อมุ่งแสวงหาผลกำไร รวมทั้ง สถาบันทางการแพทย์ควรแนะนำผู้ป่วยให้ได้รับความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบำบัด