ปกป้องมรดกทางวัฒนธรรม ส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างอารยธรรมร่วมกัน
การปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมและส่งต่อไปยังรุ่นต่อรุ่นเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของมนุษยชาติ จนถึงตอนนี้ จำนวนแหล่งมรดกโลกในประเทศจีนเพิ่มขึ้นเป็น 56 แห่ง รวมถึง กำแพงเมืองจีนและพระราชวังฤดูร้อนในกรุงปักกิ่ง, ถ้ำโม๋เกา (Mogao Grottoes) ในเมืองตุนหวง มณฑลกานซู ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ, ถ้ำอวิ๋นกัง (Yungang Grottoes) ในมณฑลชานซี ทางเหนือของประเทศ และสถานที่อื่น ๆ
ถ้ำอวิ๋นกัง เมืองต้าถง มณฑลชานซี ทางเหนือของประเทศ (พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์/หลี่ อิง)
ความหลากหลายของอารยธรรมมนุษย์ไม่เพียงกำหนดโลก แต่ยังขับเคลื่อนความก้าวหน้าของมนุษยชาติด้วย ถ้ำอวิ๋นกังเป็นตัวอย่างที่ยิ่งใหญ่ของการสื่อสารทางวัฒนธรรมระหว่างจีนและต่างชาติ เราสามารถเห็นลวดลายที่ตกแต่งด้วยลักษณะทั้งของจีนและต่างประเทศอย่างหลากหลายในถ้ำอวิ๋นกัง เสาหินบางต้นมีลักษณะของวัฒนธรรมต่างประเทศอย่างชัดเจน เช่น เสาแบบไอออนิก (Ionic order) จากกรีกโบราณ และเสาแบบคลาสสิกอื่น ๆ จากเปอร์เซียและอินเดีย
ปฏิสัมพันธ์ของอารยธรรมระหว่างประเทศช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่น เครื่องเคลือบดินเผาที่ริเริ่มในประเทศจีนเผยแผ่ไปยังส่วนอื่น ๆ ของโลก และเทคโนโลยีสำหรับการผลิตเครื่องเคลือบดินเผายังคงพัฒนาอยู่ในปัจจุบัน เครื่องเคลือบดินเผาแบบไฮเทคทำจากธาตุหายาก ผสมกับธาตุโลหะ หรือทำด้วยเทคนิคการเผาไฟรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถนำไปใช้ในด้านชีวการแพทย์ได้ เช่น การผลิตกระดูกและข้อเทียม
ประชาชนเยี่ยมชมนิทรรศการ “Tota Italia -- Origins of a Nation” ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ
ในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2565 (พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์/หยาง เซิงอวี้)
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการจัดแสดงโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมที่มีคุณภาพมากขึ้นในจีน ซึ่งสะท้อนวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างและกว้างไกลของจีนสมัยใหม่
ระหว่างปี 2559 ถึงปี 2563 จีนเป็นเจ้าภาพจัดนิทรรศการโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมกว่า 300 รายการ เช่น สมบัติของจีน (Treasures of China), ตะวันออกพบตะวันตก : เส้นทางสายไหมทางทะเลในช่วงศตวรรษที่ 13 - 17 (East Meets West: The Maritime Silk Road during the 13th - 17th Centuries) และความงดงามของเอเชีย : นิทรรศการอารยธรรมเอเชีย (The Splendor of Asia: An Exhibition of Asian Civilizations) ที่จัดขึ้นร่วมกันโดย 47 ประเทศในเอเชีย รวมถึงอียิปต์และกรีซ นิทรรศการเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างจีนและอารยธรรมอื่น ๆ ทั่วโลก ซึ่งกลายเป็น “ลายเซ็นทอง” ของการสื่อสารทางวัฒนธรรมหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง
ผู้เข้าชมนิทรรศการถ่ายภาพประติมากรรมที่นิทรรศการมรดกวัฒนธรรมคันธาระ ตามเส้นทางสายไหม (Gandhara Heritage
along the Silk Road) นิทรรศการร่วมระหว่างปากีสถาน-จีน ที่พระราชวังต้องห้าม (Palace Museum) ในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่
16 มี.ค. 2566 (พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์/ตู้ เจี้ยนพัว)
การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของมวลมนุษยชาติ เหตุการณ์แผ่นดินไหว 8.1 ริกเตอร์ที่เนปาลในปี 2558 ได้ทำลายแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมหลายแห่งในประเทศ สองปีต่อมา รัฐบาลจีนเริ่มโครงการช่วยเหลือในต่างประเทศ เพื่อฟื้นฟูพระราชวังพะสันตะปุร์ (Basantapur Palace complex) ความสูง 9 ชั้นที่ถูกทำลายจากแผ่นดินไหวในกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาล นับเป็นโครงการช่วยเหลือต่างประเทศที่สำคัญโครงการแรกเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม
ในปัจจุบัน จีนกำลังร่วมมือกับ 6 ประเทศที่ร่วมในข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง เพื่อการอนุรักษ์สถานที่ทางประวัติศาสตร์ 11 แห่ง รวมทั้งยังมีการเปิดตัวโครงการร่วมทางโบราณคดี 33 โครงการ ระหว่าง 17 ประเทศที่ร่วมในข้อริเริ่มฯ ดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดได้รับการยกย่องจากหน่วยงานท้องถิ่นและประชาชน
ชาวจีนเชื่อว่า เราไม่ควรให้คุณค่าต่อวัฒนธรรมของตนเองเท่านั้น แต่ควรให้คุณค่าต่อวัฒนธรรมผู้อื่นด้วย และด้วยเหตุนี้จะมีส่วนช่วยให้วัฒนธรรมทั้งหมดเฟื่องฟู ประเทศต่าง ๆ บนโลกควรจะทำงานร่วมกันเพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม เคารพวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน รวมถึงสร้างการแลกเปลี่ยนและร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น