โครงการผันน้ำเชื่อมโยงสองแม่น้ำสาขาจากสองแม่น้ำสายใหญ่ที่สุดของจีน
พนักงานดื่มน้ำในไซต์ก่อสร้างซึ่งอยู่ใต้พื้นดินในระดับความลึกที่ 1,840 เมตร ใต้หุบเขาฉินหลิ่งในมณฑลส่านซี
ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 ด้วยอุณหภูมิที่สูงเกิน 40 องศาเซลเซียส และความชื้น
90 เปอร์เซ็นต์ แรงงานในโครงการสร้างอุโมงค์ผันน้ำใต้ภูเขาฉินหลิ่ง (Qinling Mountains)
(ซินหัว/หลิว เสี่ยว)
จีนได้ทำการขุดใต้พื้นดินบริเวณภูเขาเพื่อทำการผันน้ำจากแม่น้ำสาขาของแยงซีเกียง แม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (16 ก.ค.) ฝ่ายทรัพยากรน้ำประจำมณฑลส่านซีให้ข้อมูลว่าอุโมงค์ใต้ภูเขาฉินหลิ่งเริ่มผันน้ำจากแม่น้ำหาน หรือ หานเจียง (แม่น้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแยงซีเกียง) ไปสู่แม่น้ำเว่ยเหอ (แม่น้ำสาขาของแม่น้ำเหลือง)
เจ้าหน้าที่ชื่นชมโครงการที่ปล่อยน้ำจากแม่น้ำสาขาของแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดทั้งสองสายของประเทศมาบรรจบกันในมณฑลส่านซี หนึ่งในมณฑลที่แห้งแล้งที่สุดทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
โครงการเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2554 ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 51.6 พันล้านหยวน (ประมาณ 252.84 พันล้านบาท) เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำหานทางตอนใต้ของส่านซีที่อุดมด้วยน้ำขึ้นไปทางเหนือไปสู่แม่น้ำเว่ยเหอ โดยลัดเลาะผ่านพื้นที่ตอนกลางของมณฑลที่มีความต้องการน้ำมากกว่า
นับเป็นโครงการก่อสร้างที่ท้าทายมากที่สุดโครงการหนึ่งในประเทศจีน เพราะต้องการการก่อสร้างอุโมงค์ความยาว 98.3 กม. ซึ่งอยู่ใต้ภูเขาฉินหลิ่ง เขตแดนทางธรรมชาติระหว่างจีนตอนเหนือและตอนใต้
จนถึงขณะนี้ โครงการได้เสร็จสิ้นระยะแรกเพื่อเชื่อมแม่น้ำสองสายผ่านอุโมงค์ ขณะที่ระยะที่สองและสามของการส่งน้ำไปยังสถานที่อื่น ๆ ในภาคกลางของมณฑลส่านซียังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
เจิ้ง เว่ยกั๋ว ฝ่ายทรัพยากรน้ำประจำมณฑลส่านซี กล่าวว่า เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ จะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำประปาของเมืองต่าง ๆ ในมณฑลส่านซี เช่น ซีอาน และ เสียนหยาง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชน 14.11 ล้านคน รวมทั้งยังมีทรัพยากรน้ำในปริมาณมากยิ่งขึ้นสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานในมณฑล