ผู้เชี่ยวชาญชื่นชมความสำเร็จของจีน-อาเซียน
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2566 นักบินใต้น้ำกำลังปลดเชือกบนเรือดำน้ำ “เชินไห่ หย่งชื่อ (Shenhai Yongshi หรือ
Deep Sea Warrior)” ซึ่งมีความหมายว่า นักรบใต้ทะเลลึก ออกจากเรือวิจัยทางวิทยาศาสตร์ “ทั่นสั่วอี เฮ่า
(Tan Suo Yi Hao หรือ Discovery One)” เพื่อเตรียมการสำรวจใต้ท้องทะเลในทะเลจีนใต้
(ซินหัว)
ความสำคัญของแนวทางปฏิบัติที่ปรับปรุงใหม่เพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ความพยายามให้เกิดผลในด้านบวกทั้งหมดที่จีนและประเทศในกลุ่มอาเซียนกำลังดำเนินการหารือระหว่างกันเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct หรือ COC) ควรได้รับการต้อนรับอันดี
อเล็กเซียส เจมาดู (Aleksius Jemadu) คณบดีและศาสตราจารย์ทางการเมืองแห่งคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพลิตา ฮาราปัน (Pelita Harapan) ในอินโดนีเซีย กล่าวว่า “ควรมีการชมเชยความก้าวหน้าทางการเจรจาในเรื่องนี้ เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าทั้งอาเซียนและจีนจะสามารถทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความปลอดภัยในภูมิภาค”
เมื่อเน้นถึงเสถียรภาพในภูมิภาค เจมาดู กล่าวว่า “ทุกประเทศควรจะปฏิบัติและทำให้มั่นใจว่า ในที่สุดแล้ว แนวทางปฏิบัติดังกล่าวจะเป็นบทอ้างอิงสามัญที่สร้างกระบวนการสันติภาพและช่วยให้การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจเป็นไปได้อย่างราบรื่น”
ตามแถลงการณ์ร่วมที่ออกเมื่อวันพฤหัสบดี (13 ก.ค.) หลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 56 ที่กรุงจาการ์ตา รัฐมนตรีต่างประเทศในกลุ่มอาเซียนกล่าวยินดีต้อนรับความก้าวหน้าของการเจรจาในปัจจุบัน รวมถึงการอ่านร่างฉบับเดียวครั้งที่สองอย่างเสร็จสมบูรณ์ (ร่างการเจรจา COC) และสนับสนุนแรงผลักดันเชิงบวกอย่างต่อเนื่องในเรื่องนี้
นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวยังระบุว่า “พวกเราให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมและดำรงสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ ความปลอดภัยและเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ รวมทั้งตระหนักถึงผลประโยชน์ของการมีทะเลจีนใต้ในฐานะทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรือง”
เฮนรี่ ฉาน นักวิจัยอาวุโสที่สถาบันกัมพูชาเพื่อความร่วมมือและสันติภาพ ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา กล่าวว่า “สิ่งสำคัญที่สุดคือ ตราบใดที่ยังดำเนินการเจรจาต่อไป จะช่วยนำพาสันติภาพสู่ภูมิภาค และป้องกันการเผชิญหน้า อย่างไรก็ตาม น่าจะเป็นการเจรจาที่ใช้เวลายาวนาน” โดยสังเกตได้ว่าสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นอาจจะมีทัศนคติต่อ COC ที่แตกต่างออกไป
นักวิเคราะห์ระบุว่า บางประเทศนอกทะเลจีนใต้พยายามสร้าง และโหมกระพือความตึงเครียดในภูมิภาค เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตนโดยแลกกับความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบ
ในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 56 การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน หรือ AMM-PMC และการประชุมที่เกี่ยวข้องในวันที่ 11-14 กรกฎาคม โดยผู้แทนจาก 29 ประเทศ มีการประชุมทวิภาคี 239 ครั้ง รวมถึงการประชุมระหว่าง จีนและสหรัฐฯ และการประชุมไตรภาคี 6 ครั้ง ซึ่งจัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ผู้สนับสนุนสำคัญ
ในบรรดาผลลัพธ์ที่สำคัญ AMM-PMC ได้เน้นย้ำว่า อาเซียนควรเตรียมพร้อมสำหรับความท้าทายในอนาคตอย่างไร และอาเซียนควรเป็นผู้สนับสนุนสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคอย่างไร นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำถึงบทบาทของอาเซียนในการเป็นศูนย์กลางของการเติบโต
ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-จีนได้เห็นการยอมรับแถลงการณ์ร่วมอาเซียน-จีนว่า ด้วยการเฉลิมฉลองและทบทวนการครบรอบ 20 ปี ของการเข้าร่วมสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแนวทางเร่งรัดข้อสรุปของ COC
เจมาดูกล่าวว่า ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างจีนและอาเซียนเป็นหนึ่งในเสาหลักที่สำคัญที่สุดของเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เขาคาดว่าจีนจะมีบทบาทสำคัญในการตอบสนองความต้องการของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากจีนมีเครื่องมือทางเศรษฐกิจมากมายที่จะอำนวยความสะดวกในความร่วมมือ และ “สมาชิกอาเซียนจะชื่นชมจีนอย่างมาก”
ที่ประชุมยังสนับสนุนให้มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับอาเซียนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง ผลการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี 3.0 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้า