อาหารจีนรสชาติเผ็ดเป็นที่นิยม ท่ามกลางการขยายตัวทางการค้าในภูมิภาคอาเซียน

(People's Daily Online)วันพุธ 26 กรกฎาคม 2023

ในการประชุมทางธุรกิจกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (Lancang-Mekong Business Forum) ครั้งที่ 5 ณ หนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ผู้ร่วมงานให้ความสนใจสุกี้รสชาติเผ็ดแบรนด์จีนที่มีบรรจุภัณฑ์พิมพ์เป็นภาษาจีนและภาษาพม่า

ส่วนผสมของวัตถุดิบในการผลิตถูกนำเข้าจากนครฉงชิ่ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และผ่านการแปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ในกรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เพื่อให้เหมาะกับรสชาติคนในท้องถิ่น

เซียน เยียน วัย 37 ปี ผู้ผลิตสุกี้เผ็ดจีน-พม่า สามารถพูดภาษาจีนอย่างคล่องแคล่ว กล่าวว่า “อาหารรสชาติเผ็ดของจีนเริ่มปรากฏในเมียนมาเมื่อ 10 ปีก่อน และเมื่อครั้งที่ชาวจีนเข้ามาขายสลัดผักรสเผ็ด ก็ได้นำสุกี้จีนรสเผ็ดเข้าสู่ร้านอาหารระดับไฮเอนด์ในประเทศด้วย”

ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาหารจีนที่มีรสชาติเผ็ดและยั่วน้ำลาย หรือ รู้จักกันดีในชื่อ “หมาล่า” ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลี่ จิง วัยรุ่นชายจากเขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงและเหมียว เหวินชานในมณฑลยูนนานได้เดินทางไปศึกษาภาษาพม่าที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศในกรุงย่างกุ้งเป็นเวลา 3 ปี ได้ยืนยันเทรนด์นี้ เขากล่าวว่า สุกี้จีนได้รับความนิยมอย่างมากในย่างกุ้ง มีร้านค้าตามถนนจำนวนมากที่ขาย ซุปรสชาติเผ็ดร้อน (หมาล่าทัง) และสุกี้รสชาติเผ็ด

ด้วยการเติบโตของจำนวนผู้นิยมบริโภครสชาติ “หมาล่า” ในประเทศเมียนมา บริษัทของเซียน เยียนได้ติดต่อกับซุปเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นเพื่อนำเสนอรสชาติเผ็ดร้อนของสุกี้จีน แม้ว่าผลิตภัณฑ์จะราคาสูงกว่าแบบท้องถิ่นถึง 1.5 เท่า ก็ยังสามารถขายได้ถึง 20,000-30,000 ห่อต่อเดือน เขากล่าวว่า ผลิตภัณฑ์เผ็ดที่คล้ายกันจากแบรนด์อื่น ๆ ก็ขายดีในซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นเช่นกัน

ตามข้อมูลจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของจีน เหม่ยถวน (Meituan) และเตี่ยนผิง (Dianping) เมื่อต้นปีนี้ การค้นหาคำว่า “หม่าล่า” และ “หม้อไฟ” ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 700 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งในรีสอร์ทยอดนิยมที่กรุงเทพฯ และภูเก็ตก็มีร้านอาหารจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่มีบาร์บีคิวหม่าล่าและสุกี้หม้อไฟขาย

โจว ปิ่งเยว่ ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในหนานหนิงกล่าวว่า “เมื่อเทียบกับอาหารไทยรสเผ็ดแล้ว รส ‘หมาล่า’ ในอาหารจีนนั้นซับซ้อนและเข้มข้นกว่า ซึ่งเป็นรสชาติที่ดึงดูดใจวัยรุ่นไทย  ด้วยนโยบายต่าง ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ เช่น ‘1 แถบ 1 เส้นทาง’ และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ได้รับการขยายออกไปโดยไม่มีอุปสรรคต่อการค้าและการขนส่ง อาหารที่มีรสชาติแบบจีน เช่น ‘หมาล่า’ กำลังเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยวิธีที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ณ ตลาดค้าเครื่องเทศนานาชาติอวี้หลิน (Yulin International Spice Trading Market) ในเมืองอวี้หลิน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน อบอวลไปด้วยกลิ่นอันหอมกรุ่นมองเห็นขบวนรถบรรทุกที่เต็มไปด้วยเครื่องเทศ เช่น โป๊ยกั๊กและอบเชย ปริมาณการซื้อขายเครื่องเทศประจำปีในอวี้หลินอยู่ที่ประมาณ 800,000 ตัน และมีพนักงานมากกว่า 100,000 คนทำงานในห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

เมืองอวี้หลินคว้าโอกาสในการใช้ RCEP และขยายการค้าอย่างต่อเนื่องกับประเทศในอาเซียนในด้านเครื่องเทศ ส่งออกเครื่องปรุงรสของจีนไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อตอบสนองต่อมรับรสของคนในท้องถิ่น

ในการประชุมทางธุรกิจกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ครั้งที่ 5 ตัวแทนจากอุตสาหกรรมในประเทศกรอบความร่วมมือจำนวนกว่า 100 แห่งจากจีน ไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนามได้เจรจาโอกาสเพื่อความร่วมมือในอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร

สุริยัน วิจิตรเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง กล่าวในงานฟอรัมว่า “ในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เนื่องจากการเชื่อมโยงทางโครงสร้างระหว่างประเทศในกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (LMC) ช่วยให้มีการปรับปรุงระบบขนส่ง ประกอบกับความต้องการทางอาหารที่เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนรูปแบบการบริโภค ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในกระบวนการแปรรูปอาหารและบรรจุภัณฑ์ส่งผลให้ตลาดและการค้าของกลุ่มประเทศ LMC ในด้านอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นำมาซึ่งโอกาสความร่วมมือในอนาคตที่กว้างยิ่งขึ้น

กิตติ ทรัพย์ชูกุล ประธานบริษัทเกรนาดส์ไบโอเทค จำกัด กล่าวว่า จีนเป็นประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่ ด้วยโอกาสอันมหาศาล และเรามุ่งหวังที่จะมีการแลกเปลี่ยนและร่วมมือกับบริษัทจากจีนในอนาคต