เลขาธิการ BOI: จีนเข้าลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูงของไทย
ตั้งแต่ปี 2562 ภายใต้การนำของการร่วมสร้าง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (BRI) แบบคุณภาพสูง จีนกลายเป็นแหล่งลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ใหญ่ที่สุดของไทยหลายครั้ง
จากการผลิตเครื่องจักรแบบดั้งเดิม ชิ้นส่วนรถยนต์ ไปจนถึงยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนพลังงานใหม่ การลงทุนของจีนในประเทศไทยได้แสดงให้เห็นลักษณะของ “การเพิ่มทั้งคุณภาพและปริมาณ” นอกจากนี้ ไทยยังกลายเป็นศูนย์กลางอันสำคัญสำหรับวิสาหกิจจีนในการเข้าสู่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย (The Board of Investment หรือ BOI) ได้ติดต่อกับวิสาหกิจจีนมาเป็นเวลานานและยังเป็นสักขีพยานและผู้ผลักดันความเฟื่องฟูของวิสาหกิจจีนเข้ามาลงทุนในไทย
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นายนฤตม์ให้สัมภาษณ์พิเศษกับโกลบอลไทมส์ (Global Times) ว่า “ผมชื่นชมบทบาทเชิงบวกของข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค และบทบาทเชิงบวกของการลงทุนของจีนในกระบวนการการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย ทั้งนี้ ประเทศไทยจะยังคงต้อนรับทุกโครงการที่เหมาะสมกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของไทยต่อไป”
จีนยังคงลงทุนในประเทศไทยในระดับที่สูง
ปีนี้เป็นวาระครบรอบ 10 ปีของข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (BRI) ที่เสนอโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ วิสาหกิจจีนกำลังเดินหน้าไปยังต่างประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ
ประเทศไทยซึ่งมีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์และประชาชนมีความใกล้ชิดกัน ไทยจึงได้กลายเป็นตัวเลือกอันดับแรกสำหรับวิสาหกิจจีนจำนวนมากที่เลือกมาลงทุนในประเทศไทย
จากข้อมูลที่เผยแพร่โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทยพบว่า ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของไทย (FDI) เพิ่มขึ้น 141 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา มูลค่าอยู่ที่ 304,000 ล้านบาท (ประมาณ 62,900 ล้านหยวน) โดยในจำนวนนี้ จีนเป็นผู้ลงทุนที่ใหญ่ที่สุด ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 61,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์
นายนฤตม์กล่าวกับนักข่าวโกลบอลไทมส์ว่า การลงทุนของจีนในประเทศไทยเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2558 ตั้งแต่นั้นมา แม้จะมีโรคระบาดครั้งใหม่ แต่การลงทุนของจีนในไทยยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง โดยเงินทุนส่วนใหญ่เข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตขั้นสูงและภูมิภาค “ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก” ของไทย (EEC)
นายนฤตม์กล่าวว่า “จากมุมมองของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไทย เราเข้าใจดียิ่งขึ้นว่าการเชื่อมต่อซึ่งกันและกันและโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของนักลงทุนจีนในการพิจารณาลงทุนในประเทศไทย”
เขายังให้ความเห็นว่า “ความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดจากโครงการข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (BRI) ได้เสริมสร้างความร่วมมือทางการค้า เศรษฐกิจ และการลงทุนในระยะยาวระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศอาเซียน ในขณะเดียวกันจะช่วยเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันของไทยด้วย”
ปัจจุบัน รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งเป็นโครงการหลักในการร่วมสร้างข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (BRI) ระหว่างสองประเทศ กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง นายนฤตม์กล่าวว่า การเปิดเส้นทางรถไฟจีน-ลาวได้แสดงให้เห็นว่า การเชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้นเป็นประโยชน์ต่อการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างจีน ลาว และไทย ภายหลังการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทยแล้วเสร็จ จะนำโอกาสทางการค้าและการลงทุนมาสู่ภูมิภาคมากขึ้น
ความร่วมมือทางรถยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีศักยภาพที่ดี
ในเดือนเมษายนของปีนี้ นายนฤตม์ได้นำคณะผู้แทนไปยังประเทศจีนเพื่อร่วมงานโรดโชว์และจัดการประชุมหารือกับวิสาหกิจที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอะไหล่รายใหญ่ของจีนมากกว่า 10 แห่ง ซึ่งรวมถึงฉางอัน ออโตโมบิล (Chang'an Automobile) จีลี่ ออโตโมบิล (Geely Automobile) เจียงฮว๋าย ออโตโมบิล กรุ๊ป (Jianghuai Automobile Group) และเจียงหลิง มอเตอร์ (Jiangling Motors) โดยโรดโชว์ครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้กลายเป็นทิศทางสำคัญสำหรับวิสาหกิจจีนในการลงทุนในประเทศไทย
นายนฤตม์กล่าวกับนักข่าวว่า ณ เดือนมิถุนายน 2566 BYD, Great Wall Motors (GWM), SAIC Motor รวมทั้ง Neta U ได้ตัดสินใจลงทุนก่อสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย อีกทั้ง บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าอื่น ๆ ของจีน เช่น Chang'an Automobile และ GAC Aian ก็กำลังพิจารณาจะลงทุนในประเทศไทยเช่นกัน โดยนับประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งในแผนการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศของวิสาหกิจดังกล่าว
หนังสือพิมพ์ “Nihon Keizai Shimbun” ของญี่ปุ่นรายงานเมื่อเดือนมิถุนายนปีนี้ว่า รถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตโดยวิสาหกิจจีนได้ครอบครองตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100% ในประเทศไทยด้วยสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 นายนฤตม์ให้ความเห็นว่า “ความได้เปรียบทางการแข่งขันของวิสาหกิจผลิตรถยนต์พลังงานรายใหม่ของจีนในไทยมาจากการมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันยอดเยี่ยมของวิสาหกิจเอง โดยประเทศไทยได้สร้างห่วงโซ่อุปทานอันแข็งแกร่งมากในภาคยานยนต์ ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับสถานะของไทยในฐานะผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ช่วยดึงดูดนักลงทุนชาวจีนมาลงทุนในไทย”
จับมือ “เมดอินไทยแลนด์” หนุนวิสาหกิจจีนเดินหน้าสู่ต่างประเทศ
“นโยบายการลงทุนของเรายังคงเปิดกว้างและยินดีต้อนรับทุกโครงการที่เหมาะสมกับกลยุทธ์การพัฒนาของเรา”
ในด้านข่าวลือจากสื่อตะวันตกเกี่ยวกับการ “ลดความเสี่ยง (de-risking) และแยกห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญ (Decoupling)” ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตของจีน นายนฤตม์เน้นย้ำว่า “การพัฒนาอุตสาหกรรมและการสร้างห่วงโซ่อุปทานการผลิตของไทยได้รับประโยชน์อย่างชัดเจนจากการลงทุนของจีนและประเทศอื่น ๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้” ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทยกำลังสื่อสารอย่างใกล้ชิดกับนักลงทุนชาวจีน เช่น BYD, Great Wall Motors (GWM) รวมถึงซัพพลายเออร์ของไทย เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในด้านห่วงโซ่อุปทาน