เมืองเฉิงตูของจีนเตรียมพร้อมเป็นเมืองอุตสาหกรรมไซไฟที่มีอนาคตสดใส
นายหลิว สือซิน ผู้ได้รับรางวัลฮิวโก (นั่งขวา) กำลังแจกลายเซ็นแก่ผู้ชื่นชอบนิยายไซไฟในงานนิยายวิทยาศาสตร์
โลกหรือ Worldcon ครั้งที่ 81 งานนิยายไซไฟ (Sci-Fi) ที่ใหญ่ที่สุดของโลก จัดขึ้นที่นครเฉิงตู มณฑลเสฉวนภาค
ตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2566 (เสิน ปัวหาน/ซินหัว)
รายงานอุตสาหกรรมไซไฟที่เพิ่งประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาระบุว่า นครเฉิงตู เจ้าภาพในการจัดประชุมนิยายวิทยาศาสตร์โลก (World Science Fiction Convention) หรือ Worldcon ครั้งที่ 81 มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมนิยายวิทยาศาตร์หรือนิยายไซไฟอย่างมาก
นิยายวิทยาศาสตร์ฝังรากลึกในนครเฉิงตูมายาวนาน เฉิงตูเป็นเมืองเอกของมณฑลเสฉวน ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และเป็นที่ตั้งของนิตยสารนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อ “Science Fiction World” ที่มีการเผยแพร่สู่ทั่วโลกมากที่สุด สิ่งพิมพ์ดังกล่าวมีผลต่อนักเขียนและผู้อ่านไซไฟหลายรุ่น ทำให้เกิดเส้นทางอาชีพของนักเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศหลายคน รวมถึงหลิว สือซิน (Liu Cixin) ผู้ชนะรางวัลฮิวโก (Hugo Award)
อู๋ เซี่ยนขุย (Wu Xiankui) ผู้ชนะรางวัลกาแล็กซี่ (Galaxy Award) สาขานิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นรางวัลไซไฟที่เก่าแก่ที่สุดของจีน และมีต้นกำเนิดจากเมืองเฉิงตูเช่นกัน กล่าวว่า “แม้ว่าตามภูมิศาสตร์เฉิงตูจะเป็นพื้นที่ราบลุ่มของประเทศจีน แต่ทว่า เฉิงตูก็ยืนหยัดในฐานะที่ราบสูงแห่งนิยายวิทยาศาสตร์จีนอย่างไม่ต้องสงสัย”
เมืองนี้ได้กลายเป็นแหล่งกำเนิดของนิยายวิทยาศาสตร์จีนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งช่วยให้เฉิงตูเบ่งบานจากแฟนคลับเฉพาะกลุ่มไปสู่อุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วัยรุ่นจีนให้ความสนใจไซไฟมากขึ้น เฉิงตูจึงใช้ความพยายามอย่างมากในการส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมไซไฟที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ โดยมีเป้าหมายในการเป็นแหล่งนิยายไซไฟของจีน
รายงานอุตสาหกรรมไซไฟระบุว่าในช่วงปี พ.ศ. 2561-2565 รายได้รวมของอุตสาหกรรมนิยายวิทยาศาสตร์เฉิงตูเกินกว่า127,600 ล้านหยวน (ประมาณ 638,000 ล้านบาท) อัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี ร้อยละ 19.1
ในปี พ.ศ. 2565 เฉิงตูมีรายได้จากอุตสาหกรรมนิยายวิทยาศาสตร์ ที่ยังไม่รวมการผลิตอุปกรณ์นิยายวิทยาศาสตร์อยู่ที่ 20,000 ล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 22.8 ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ
ความสำเร็จของเฉิงตูเป็นภาพสะท้อนของอุตสาหกรรมไซไฟที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในจีน ในปี 2565 อุตสาหกรรมนิยายวิทยาศาสตร์ของทั้งประเทศจีนอยู่ที่ 87,750 ล้านหยวน (ประมาณ 439,000 ล้านบาท)
นอกจากนี้ คนในวงการอุตสาหกรรมนี้ ต่างมั่นใจในโอกาสของตน เนื่องจากจีนมีศักยภาพการบริโภคอย่างมหาศาลซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพสูงสุดให้แก่อุตสาหกรรม
นายโรเบิร์ต เจ. ซอว์เยอร์ (Robert J. Sawyer) หนึ่งในนักเขียนไซไฟที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดของแคนาดา และเป็นผู้ได้รับรางวัลฮิวโกและรางวัลเนบูลา (Nebula) กล่าวว่า “ผมคิดว่าจีนใช้เวลา 40 ถึง 50 ปี ขณะที่โลกตะวันตกใช้เวลา 200 ปี การเติบโตของจีนเป็นแบบทวีคูณ ในขณะที่ประเทศตะวันตกซบเซา เมื่อเร็วๆ นี้ สหรัฐอเมริกา มักจะลดการให้ทุนในมหาวิทยาลัย วิทยาศาสตร์และการศึกษา ในขณะที่จีนลงทุนอย่างมากในสิ่งเหล่านี้”
เขากล่าวเพิ่มว่า “รัฐบาลจีนเชื่อว่าอนาคตของประเทศมีรากฐานมาจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้น อนาคตของนิยายวิทยาศาสตร์จึงสดใสอย่างไม่น่าเชื่อด้วยความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของจีน”
นอกจากงานวรรณกรรมแล้ว เฉิงตูยังได้ร่างแผนงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่มีความสัมพันธ์กันอีกด้วย
ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมเกมประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561-2565 เกมไซไฟของเฉิงตูสร้างรายได้รวม 56,600 ล้านหยวน (ราว 283,000 ล้านบาท) มีบทบาทสำคัญในการส่งออกเกมไซไฟของจีนสู่ต่างประเทศ
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ไซไฟของเฉิงตูก็กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ด้วยการสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ ในภาคส่วนปัญญาประดิษฐ์ บิ๊กดาต้า และเทคโนโลยีจอแสดงผลความละเอียดสูง
รายงานยังระบุว่า ณ สิ้นปี 2565 เฉิงตูเป็นที่ตั้งของบริษัทด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับไซไฟมากกว่า 1,000 บริษัท ซึ่งเป็นแหล่งพลังที่มั่นคงในการพัฒนาอุตสาหกรรมนิยายวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง
นายเหยา ไห่จุน (Yao Haijun) ประธานร่วมกิตติมศักดิ์ของคณะกรรมการจัดงาน WorldCon ที่เฉิงตู กล่าวว่าการจัดงานในปีนี้ เฉิงตูใช้สโลแกน “Meet the Future”ซึ่งรวมถึงวิสัยทัศน์ของเฉิงตูในการสำรวจโลกอนาคตอันไม่มีที่สิ้นสุดด้วยการจินตนาการแนวไซไฟ
การประชุมนิยายวิทยาศาสตร์โลกจัดโดยสมาคมนิยายวิทยาศาสตร์โลก (The World Science Fiction Society) หรือ WSFS ซึ่งจัดขึ้นทุกปีนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 และหยุดจัดไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2485-2488) นับเป็นครั้งแรกที่งานไซไฟที่ใหญ่ที่สุดและจัดมายาวนานที่สุดจัดขึ้นที่ประเทศจีน