นักข่าวยูเรเซียสัมผัสวัฒนธรรมผ้าปักม้งที่กุ้ยโจว หนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของจีน
ภาพโดย มณฑา บันดาลศิริกุล/พีเพิลส์เดลี่ออนไลน์
วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2566 คณะผู้สื่อข่าวจากประเทศยูเรเซีย(ทวีปยุโรปและเอเชีย)ได้เดินทางไปยังตำบลซือต้ง อำเภอไถเจียง เขตปกครองตนเองชนชาติม้งและต้งเฉียนตงหนาน มณฑลกุ้ยโจว ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์มิตรภาพระหว่างคนวัยหนุ่มสาวในประเทศ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” : กิจกรรมนักข่าวแถบประเทศยูเรเซียร่วมสำรวจมณฑลกุ้ยโจว ที่จัดโดยพีเพิลส์เดลี่ออนไลน์ ระหว่างวันที่ 26-31 ตุลาคม พ.ศ. 2566
งานหัตถกรรมปักผ้าเป็นงานดั้งเดิมของชนเผ่าม้งในมณฑลกุ้ยโจวที่สืบทอดกันมายาวนานกว่า 2,000 ปี โดยการปักผ้าม้ง “เหลยชัน” (Leishan Miaoxiu) ของมณฑลกุ้ยโจวได้รับอนุมัติให้เป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของจีน
การปักผ้าม้ง “เหลยชัน” ใช้การปักผ้าขึ้นลายหลายรูปแบบ และหลากหลายเทคนิคที่ดูแล้วเสมือนจริงในแง่ของรูปลักษณ์และการสร้างแบบจําลอง มีทั้งแบบสามมิติและหลายมิติ แสดงให้เห็นถึงสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมม้ง
รูปไถ ชุนฮวา (ภาพโดย มณฑา บันดาลศิริกุล/พีเพิลส์เดลี่ออนไลน์)
ไถ ชุนฮวา ชาวม้งจากหมู่บ้านปาลาเหอ วัย 40 ปี เธอเกิดในครอบครัวที่สร้างสรรค์งานหัตถกรรมม้งมายาวนานและด้วยความรักในงานหัตถกรรมตั้งแต่วัยเด็ก จึงเริ่มเรียนเทคนิคการเย็บปักถักร้อยตั้งแต่ 5 ขวบ
ปัจจุบัน ไถ ชุนฮวา เป็นผู้บริหารบริษัทเครื่องแต่งกายกลุ่มชาติพันธ์ชุนฮวาแห่งกุ้ยโจว ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าปักและเครื่องแต่งกายชาวม้งชุนฮวา ผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมระดับแคว้นในโครงการมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แห่งชาติ (ด้านงานผ้าปักม้ง) และผู้มีทักษะการปักยอดเยี่ยม นอกจากนี้ เธอยังได้สอนหญิงชาวม้งกว่า 500 คนให้เรียนรู้เทคนิคการเย็บปักถักทอผ้าแบบม้ง ช่วยสร้างงานให้พวกเขาได้มีรายได้ รวมทั้งกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน
หลิว ชาวม้งซึ่งทำงานเป็นพนักงานปักผ้าของที่นี่ เผยกับผู้สื่อข่าวว่า “มีความสุขที่ได้ทำงานที่บ้านและลูกมีที่เรียนหนังสือ ได้ค่าจ้างรายเดือน เดือนละ 2,000 หยวน (ประมาณ 10,000 บาท) แม้ว่าจะเป็นเงินไม่มาก แต่ก็เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน”
ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ไถ ชุนฮวา ได้ใช้รูปแบบบริษัท เกษตรกร ผสมสหกรณ์ เพื่อผลิตเครื่องแต่งกายและหัตถกรรมที่ตกแต่งด้วยงานปัก โดยเธอรับซื้อผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าและของประดิษฐ์ผ้าปักจากชาวม้งในหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อนำไปขายต่อ รวมทั้ง ประชาสัมพันธ์เครื่องแต่งกายชาวม้งและวัฒนธรรมการปักผ้า และประยุกต์งานผ้าปักให้เป็นสินค้าที่ทันสมัย เช่น เครื่องประดับสตรี กระเป๋าถือปักลายม้ง ผลงานศิลปะสมุดโน้ต เครื่องแต่งกายย้อมลายคราม
ภาพโดย มณฑา บันดาลศิริกุล/พีเพิลส์เดลี่ออนไลน์