บทสรุป: การประชุมสุดยอดความปลอดภัยเอไอโลก ครั้งที่ 1
การประชุมสุดยอดความปลอดภัยปัญญาประดิษฐ์โลก ครั้งที่ 1 ที่คฤหาสน์เบล็ตช์ลีย์พาร์ค (Bletchley Park) ตอนกลางของอังกฤษ ที่ปิดการประชุมไปเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 หลายประเทศมาร่วมหารือเกี่ยวกับอนาคตของเอไอโลกและร่วมภารกิจเพื่อสร้างความเข้าใจในความเสี่ยงจากเอไอ
ผู้เข้าร่วมประชุมจากกว่า 30 ประเทศ องค์การระหว่างประเทศ บริษัทเอไอที่มีชื่อเสียงและสถาบันวิจัยต่าง ๆ ได้อภิปรายในที่ประชุมสุดยอดที่จัดขึ้น 2 วัน บทสรุปจากที่ประชุมมีดังนี้
ภาพจากซินหัว
เอไอ 2 ประเภท 5 วัตถุประสงค์
ที่ประชุมสุดยอดได้อภิปรายเกี่ยวกับเอไอ 2 ประเภท ได้แก่ ฟรอนเทียร์ เอไอ (Frontier AI) และแนร์โรว์ เอไอ (Narrow AI)
ฟรอนเทียร์ เอไอ อยู่ในแนวหน้าของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จึงมอบโอกาสมากที่สุดแต่ก็นำภัยเสี่ยงใหม่ ๆ ต่อความปลอดภัยของสาธารณะมาด้วย เป็นเอไอเอนกประสงค์ที่มีความสามารถสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโมเดลพื้นฐานที่สามารถทำงานได้หลากหลาย รวมทั้งตรงกับหรือเกินขีดความสามารถของรุ่นที่ล้ำหน้าที่สุดในปัจจุบัน
แนร์โรว์ เอไอ ปัญญาประดิษฐ์เชิงแคบหรือเฉพาะทาง มีอัลกอริทึมการเรียนรู้ที่ออกแบบมาเพื่อทำงานชิ้นเดียวหรือชุดงานแคบ ๆ และจะไม่สามารถนำความรู้ใด ๆ ที่ได้จากการปฏิบัติงานไปใช้หรือถ่ายโอนไปยังงานต่าง ๆ ได้โดยอัตโนมัติ
การอภิปรายมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ 5 ประการ ได้แก่ 1.ความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดจากฟรอนเทียร์ เอไอและความจำเป็นในการดำเนินการ 2.กระบวนการส่งต่อสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศด้านความปลอดภัยของฟรอนเทียร์ เอไอ รวมถึงวิธีที่ดีที่สุดในการสนับสนุนกรอบการทำงานระดับชาติและนานาชาติ 3.มาตรการที่เหมาะสมที่แต่ละองค์กรควรใช้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยฟรอนเทียร์ เอไอ 4.พื้นที่สำหรับความร่วมมือที่มีศักยภาพในการวิจัยด้านความปลอดภัยของเอไอ รวมถึงการประเมินความสามารถของโมเดลและการพัฒนามาตรฐานใหม่เพื่อสนับสนุนการกำกับดูแล 5.แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาเอไออย่างปลอดภัยจะช่วยให้สามารถนำเอไอไปใช้ประโยชน์ทั่วโลกได้อย่างไร
ภาพจากซินหัว
การบริหารความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของเอไอผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ
ในระหว่างการประชุมสุดยอด ได้มีการบรรลุ “ปฏิญญาเบล็ชต์ลีย์” (Bletchley Declaration) เกี่ยวกับความปลอดภัยของเอไอ และได้รับการยกย่องในฐานะเครื่องหมายที่สำคัญ
Sean O'Heigeartaigh ผู้อำนวยการโครงการเอไอเพื่ออนาคตและความรับผิดชอบแห่งมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ กล่าวว่า “ปฏิญญาเบล็ชต์ลีย์แสดงให้เห็นถึงก้าวที่สำคัญในการบริหารความเสี่ยง และการตระหนักถึงประโยชน์ของฟรอนเทียร์ เอไอ แสดงให้เห็นถึงฉันทามติระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญต่อความเสี่ยงจากฟรอนเทียร์ เอไอ”
28 ประเทศทั่วโลกจากแอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชีย รวมทั้งสหภาพยุโรป ต่างเห็นพ้องถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างความเข้าใจและจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นผ่านความพยายามร่วมกันระดับโลกครั้งใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าเอไอจะได้รับการพัฒนาและนำไปใช้ในหนทางที่ปลอดภัยและมีความรับผิดชอบเพื่อประโยชน์ของประชาคมโลก
อย่างไรก็ดี ยังมีความเห็นที่ว่า แม้ที่ประชุมสุดยอดจะมีการออกปฏิญญาดังกล่าว แต่ก็เป็นเพียงหลักการเท่านั้น ยังไม่มีแผนงานที่ชัดเจนสำหรับความร่วมมือระดับโลก และไม่มีการเสนอมาตรการเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือด้านความปลอดภัยของเอไอ
ตามที่รัฐบาลอังกฤษระบุ เกาหลีใต้ตกลงที่จะร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดเอไอผ่านระบบการประชุมทางไกล ในอีก 6 เดือนข้างหน้า และหนึ่งปีนับจากนี้ฝรั่งเศสจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดครั้งต่อไป
เวทีอภิปรายเอไอระดับโลกขาดจีนไม่ได้
ในระหว่างการประชุมสุดยอด ผู้ร่วมประชุมจากประเทศจีนได้รับความสนใจอย่างมากจากที่ประชุม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า “จีน ในฐานะหนึ่งในประเทศเอไอชั้นนำ จึงถือเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้ในการประชุมระดับโลกด้านโอกาสและความปลอดภัยของเอไอ”
สถิติจากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกระบุว่า สถาบันต่าง ๆ ของจีนได้ยื่นขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ถึง 29,853 ฉบับในปี 2565 คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 40 ของยอดการยื่นขอสิทธิบัตรเอไอทั้งหมดของโลกในปีที่ผ่านมา
อีลอน มัสก์ (Elon Musk) เจ้าของสเปซเอ็กซ์และเทสลาระบุ “การมีประเทศจีนในที่นี้ ผมคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญจริง ๆ ถ้าพวกเขาไม่ได้มาร่วมงาน ก็ไร้ประโยชน์” มัสก์เชื่อว่า เป็นเรื่องดีที่สหรัฐอเมริกา อังกฤษและจีนร่วมมือกันในด้านความปลอดภัยเอไอ
ผู้เข้าร่วมประชุมจากจากจีนแสดงความเห็นว่า จีนยินดีทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อเสริมสร้างการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการกำกับดูแลความปลอดภัยของเอไอ และมีส่วนร่วมในการสร้างกลไกระหว่างประเทศระดับสากลตลอดจน กรอบการกำกับดูแลที่ได้รับฉันทมติในวงกว้าง