ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-เวียดนามเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองประเทศ
พ่อค้าเวียดนามขายทุเรียนในพื้นที่จัดแสดงสินค้าโภคภัณฑ์อาเซียน
ในงาน China-ASEAN Expo ครั้งที่ 20 (ซินหัว/จาง อ้ายหลิน)
ปีนี้ถือเป็นวันครบรอบ 15 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างจีนและเวียดนาม ในฐานะเพื่อนบ้านที่ดี เพื่อนที่ดี สหายที่ดี และหุ้นส่วนที่ดี จีนและเวียดนามได้เร่งสร้างความร่วมมือตามข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างทั้งสองประเทศก็บรรลุผลสำเร็จมากมาย
การค้าทวิภาคีพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว กรมศุลกากรของจีนได้ออกประกาศอนุญาตให้ทุเรียนสดของเวียดนามที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดเข้าสู่ประเทศจีน ซึ่งนำโอกาสทางธุรกิจมหาศาลมาสู่เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ชาวเวียดนาม
ตั้งแต่ทุเรียนไปจนถึงแก้วมังกร กล้วย เงาะ แตงโม ฯลฯ “ตะกร้าผลไม้” ของการค้าจีน-เวียดนามเริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ข้อมูลที่เผยแพร่โดยกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนามแสดงให้เห็นว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกผักและผลไม้ของเวียดนามไปยังจีนมีมูลค่าถึง 2.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 160 เมื่อเทียบเป็นรายปี คิดสัดส่วนเป็น ร้อยละ 65 ของการส่งออกผักและผลไม้ของเวียดนามทั้งหมด ในช่วงเวลาเดียวกัน จีนและเวียดนามยังตกลงที่จะส่งเสริมการจัดหาและส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารคุณภาพสูงร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การค้าทวิภาคีระหว่างจีนและเวียดนามมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ปริมาณการค้าทวิภาคีเพิ่มขึ้นจากมากกว่า 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2543 เป็นมากกว่า 234.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนามมาหลายปีแล้ว และเวียดนามเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนในอาเซียนและเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสี่ของโลก
ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ เวียดนามได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติจีน (CIIE) ครั้งที่ 6 ผลิตผลของเวียดนามเข้าสู่ตลาดจีนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น กาแฟ ทุเรียน ข้าว ผลไม้แห้ง หัตถกรรม และสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ
ความร่วมมือด้านการลงทุนได้รับผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทจีนได้เพิ่มการลงทุนในเวียดนามอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคมปีนี้ การลงทุนโดยตรงของบริษัทจีนในอุตสาหกรรมทั้งหมดของเวียดนามมีมูลค่าสูงถึง 1.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนในเทคโนโลยีชั้นสูง สารสนเทศและการสื่อสาร พลังงานใหม่ การพัฒนาสีเขียว โลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซ และสาขาอื่น ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมาก
ในกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม รถไฟรางเบาสีเขียวสดวิ่งระหว่างอาคารสูงและอาคารที่พักอาศัย ด้วยระยะทางวิ่งทั้งหมด 13 กิโลเมตรใช้เวลาเพียง 23 นาที โครงการรถไฟฟ้ารางเบาฮานอยสาย 2 ซึ่งองค์กรของจีนเป็นผู้ก่อสร้าง ช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางของคนในพื้นที่ได้อย่างมาก และยังนำประสบการณ์การเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาให้ รวมถึงช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของฮานอยอีกด้วย
จากสถิติโดยประมาณ ระบุว่า วิสาหกิจที่ได้รับทุนสนับสนุนจากจีนได้ลงทุนหรือสร้างโครงการพลังงานลมเกือบ 70 โครงการในเวียดนาม ทำให้เกิดแรงผลักดันในการพัฒนาสีเขียวและคาร์บอนต่ำของเวียดนาม
นายสง โป เอกอัครราชทูตจีนประจำเวียดนามกล่าวว่า จีนและเวียดนามอยู่ในขั้นตอนสำคัญของการพัฒนาตามลำดับ จีนยินดีที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างจีน-เวียดนาม กระชับความร่วมมือด้านกำลังการผลิตทางอุตสาหกรรมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และส่งเสริมความร่วมมือในทางปฏิบัติระหว่างทั้งสองฝ่ายในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว พลังงานใหม่ และโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น
ความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในแง่ของการเชื่อมต่อด้านสิ่งอำนวยความสะดวก การเชื่อมต่อทางบก ทางทะเล ทางอากาศ ทำให้เครือข่ายและโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ระหว่างทั้งสองประเทศได้รับการปรับปรุงมากขึ้น
จีนและเวียดนามปกป้องระบบการค้าพหุภาคีอย่างมั่นคง รวมทั้ง เสริมสร้างการประสานงานและการมีปฏิสัมพันธ์ต่อองค์การการค้าโลก ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก และแพลตฟอร์มอื่น ๆ อย่างแนบแน่นยิ่งขึ้น
นาย เหงียน ฮ่ง เญียน (Nguyen Hong Dien) รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม กล่าวว่า เวียดนามถือว่าจีนเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญ และยินดีที่จะกระชับความร่วมมือทางการค้า การลงทุนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น รวมทั้ง ยังคงปรับปรุงระดับการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน
นายจ๋าย คุณ ศาสตราจารย์คณะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง แสดงความเห็นว่า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-เวียดนามสามารถใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบและการจัดสรรทรัพยากรของทั้งสองประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของทั้งสองประเทศในภูมิภาคและห่วงโซ่อุปทานของห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั่วโลก ในขณะเดียวกันก็ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคมีการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมระดับภูมิภาคที่ใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเอื้อต่อการส่งเสริมความร่วมมือจีน-อาเซียนและกระบวนการบูรณาการระดับภูมิภาค