การพัฒนาของรถไฟความเร็วสูงจีนในปี 2566
ขบวนรถไฟความเร็วสูงกำลังวิ่งไปตามเส้นทางรถไฟระหว่างเมืองปักกิ่ง-เทียนจิน ภาพถ่ายทางอากาศ
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 (ซินหัว/จาง เฉินหลิน)
ในปี 2551 รถไฟระหว่างเมืองปักกิ่ง-เทียนจินได้เริ่มเปิดให้บริการ เผยให้เห็นเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงสมัยใหม่ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก
ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ระยะทางให้บริการทั้งหมดของเครือข่ายรางรถไฟของจีนมีมากกว่า 155,500 กิโลเมตร ซึ่งรวมถึงระยะทาง 43,700 กิโลเมตรของรถไฟความเร็วสูงด้วย
การพัฒนาด้านรางรถไฟของจีนยังคงดำเนินต่อเนื่องไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วในปี 2566 ด้วยการเปิดตัวของเส้นทางที่มากขึ้น มุ่งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในปีนี้ เครือข่ายรถไฟความเร็วสูงขนาดใหญ่ที่เพิ่งเปิดให้บริการและโดดเด่นที่สุดของจีนคือเส้นทางสายฝูโจว-เซี่ยเหมิน-จางโจว ซึ่งถือเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงข้ามทะเลที่เร็วที่สุดของประเทศ
รถไฟความเร็วสูงที่วิ่งบนเส้นทางรถไฟความเร็วสูงฝูโจว-เซี่ยเหมิน-จางโจว
ภาพถ่ายทางอากาศเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 (ซินหัว/หลิน ช่านชวน)
จีนเชี่ยวชาญเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับการสร้างราง สะพานยาว และอุโมงค์ที่ซับซ้อนในสภาพทางธรณีวิทยาและภูมิอากาศที่ท้าทาย โดยขยายรถไฟความเร็วสูงไปยังพื้นที่ห่างไกลและที่อยู่ของชนกลุ่มน้อย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
ในปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 เส้นทางรถไฟสายเสฉวน-ชิงไห่ ระยะทาง 238 กิโลเมตรในพื้นที่ทางตะวันตกของจีนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการหลังจากก่อสร้างมาเป็นเวลา 12 ปี
ในเดือนเดียวกัน เส้นทางรถไฟเชื่อมต่อเมืองลี่เจียงและแชงกรีลา มณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เปิดดำเนินการเช่นกัน เส้นทางใหม่นี้จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อเมืองแชงกรีลา
รถไฟหัวกระสุนวิ่งบนเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกุ้ยหยาง-หนานหนิง ภาพถ่ายทางอากาศเมื่อวันที่ 31
สิงหาคม 2566 (ซินหัว/หยาง เหวินปิน)
บริษัท ไชน่า สเตท เรย์เวย์ กรุ๊ป จำกัด (China State Railway Group Co., Ltd.) ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน มีการเดินทางของผู้โดยสารทางรถไฟทั่วประเทศทั้งสิ้น 3.56 พันล้านเที่ยว เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
รถไฟความเร็วสูงของจีนก็แพร่หลายไปทั่วโลกเช่นกัน ตัวอย่างล่าสุดคือรถไฟความเร็วสูงสายจาการ์ตา-บันดุงในอินโดนีเซียที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม ซึ่งถือเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงในต่างประเทศโครงการแรกที่ใช้ระบบรถไฟ เทคโนโลยี และส่วนประกอบทางอุตสาหกรรมของจีนอย่างเต็มที่
คูนี สเตฟานัส ซานโตโซ นักศึกษาชาวอินโดนีเซียที่กำลังศึกษาที่จีน กล่าวว่า “บริการรถไฟสามารถนำความสะดวกสบายมาสู่คนในท้องถิ่นและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตลอดเส้นทาง”