การแข่งขันประกวดการสืบทอดและประดิษฐ์คิดสร้างมรดกวัฒนธรรมเส้นแกนกลางปักกิ่ง มอบรางวัลผลงานโดดเด่น 302 รายการ

(People's Daily Online)วันพุธ 10 มกราคม 2024

พิธีมอบรางวัลในการประกวดการสืบทอดและประดิษฐ์คิดสร้างมรดกวัฒนธรรมเส้นแกนกลางปักกิ่งประจำปี 2566 จัดขึ้นในกรุงปักกิ่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีการมอบรางวัลแก่ผลงานที่โดดเด่นที่ส่งร่วมแข่งขันจากทั้งในและต่างประเทศ การแข่งขันมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเข้าใจในมรดกทางวัฒนธรรมของสาธารณชน

นับตั้งแต่เริ่มจัดการแข่งขันในปี 2564 เป็นต้นมา มีการจัดการแข่งขันไปแล้ว 3 ครั้ง พิธีมอบรางวัลในปีนี้เผยว่า มีจำนวนผู้เข้าร่วมส่งผลงานเกือบ 300,000 คนจาก 13 ประเทศและทุกกลุ่มอายุ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในการแข่งขันครั้งนี้ มีผลงานที่ได้รับรางวัล 302 รายการจาก 5 หมวดหมู่หลักและ 12 หมวดหมู่ย่อย ครอบคลุมทั้งศิลปะเชิงสร้างสรรค์ ดนตรี การออกแบบแฟชั่น และสื่อดิจิทัล จากผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 80,357 รายการ

เฉิน หมิงเจี๋ย ผู้อำนวยการสำนักงานคุ้มครองมรดกโลกเส้นแกนกลางปักกิ่ง กล่าวกับโกลบอล ไทมส์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า “การแข่งขันในปี 2566 เริ่มดำเนินการในเดือนเมษายนและเสร็จสิ้นในเดือนพฤศจิกายน ครอบคลุมองค์ประกอบใหม่ ๆ เช่น ดนตรี ซึ่งแตกต่างจากปีก่อนหน้า จำนวนผู้ร่วมแข่งขันเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่การแข่งขันใน 3 ปีที่ผ่านมา จากระดับหมื่นรายจนถึงมากกว่าแสนราย แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการการมีส่วนร่วมของสาธารณชนต่อเส้นแกนกลางปักกิ่ง”

ในพิธีมอบรางวัลซึ่งจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์เมืองหลวง (Capital Museum) ในบ่ายวันอาทิตย์ ผู้เข้าร่วมรุ่นเยาว์จากทั้งในและต่างประเทศได้แสดงผลงานที่ได้รับรางวัลบนเวที รวมทั้งมีวงดนตรี 7 วงมาร่วมแสดงดนตรีในงานด้วย

เฉิน กล่าวว่า “เนื่องจากจำนวนผู้ร่วมงานประมาณร้อยละ 80.69 เป็นคนที่เกิดหลัง ค.ศ. 2000 และหลัง ค.ศ. 2010 แสดงให้เห็นว่าวัยหนุ่มสาวชาวจีนให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมเส้นแกนกลางปักกิ่งเป็นจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังตอกย้ำให้เห็นถึงความรู้สึกที่แข็งแกร่งของอัตลักษณ์ที่คนรุ่นใหม่มีต่อวัฒนธรรมจีนดั้งเดิมที่โดดเด่น”

เส้นแกนกลางปักกิ่งเป็นเส้นแกนเมืองที่สำคัญที่พาดผ่านเมืองหลวงจากทิศใต้สู่ทิศเหนือ เชื่อมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เช่น พระราชวังต้องห้าม (กู้กง) จัตุรัสเทียนอันเหมิน และหอบูชาฟ้าเทียนถาน สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นเหล่านี้เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมจีนสมัยโบราณ ไม่เพียงแต่มีอิทธิพลต่อการวางแผนผังเมืองแต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมจีนและวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีนอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตน

กรุงปักกิ่งได้ก่อตั้งผู้ดูแลมรดกทางวัฒนธรรมและระบบอาสาสมัครเพื่อปกป้องเส้นแกนกลางกรุงปักกิ่งให้ดียิ่งขึ้นทำให้สาธารณชนได้ตรวจสอบและให้ข้อมูลความคิดเห็นต่อเรื่องการปกป้องและจัดการมรดกทางวัฒนธรรมนี้ ในพิธีเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีการประกาศรายชื่อผู้ดูแลมรดกทางวัฒนธรรมเส้นแกนกลางกรุงปักกิ่งกลุ่มแรกจำนวน 31 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาคต่าง ๆ เช่น ชุมชน พิพิธภัณฑ์ อนุสรณ์สถาน เทคโนโลยีดิจิทัล และภาคการศึกษาจากโรงเรียน โดยคาดหวังให้พวกเขาสนับสนุนการจัดการพิเศษเพื่อส่งเสริมฝ่ายต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่คุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรม

นอกจากนี้ เพื่อบูรณาการเส้นแกนกลางปักกิ่งเข้ากับชีวิตในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงได้มีการเผยแพร่กลไกการมีส่วนร่วมของสาธารณชนเพื่อปกป้องและสืบทอดวัฒนธรรมเส้นแกนกลางปักกิ่ง กลไกนี้สร้างขึ้นจากระเบียบการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมเส้นแกนกลางปักกิ่ง ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการมีส่วนร่วมของกองกำลังทางสังคมในการปกป้องพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น

ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีความสนใจในเรื่องอาคารในสมัยอดีตและมรดกทางวัฒนธรรมที่ตั้งอยู่ในแนวเส้นแกนกลางปักกิ่ง ในระหว่างกระบวนการอนุรักษ์และฟื้นฟูสถานที่ มีความพยายามในการบูรณาการอาคารในสมัยโบราณให้เข้ากับชีวิตชาวเมืองสมัยใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมร่วมสมัย โครงสร้างทางประวัติศาสตร์บางแห่งได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ ศูนย์วัฒนธรรม และพื้นที่เชิงพาณิชย์ ช่วยกระตุ้นความมีชีวิตชีวาใหม่ ๆ ให้แก่เมืองแห่งนี้