RCEP ส่งเสริมความสัมพันธ์การค้าจีน-ไทย
มะพร้าวจากประเทศไทยมีชื่อเสียงในเรื่องคุณค่าทางโภชนาการและรสชาติที่หวานได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในตลาดประเทศจีน ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการใช้มะพร้าวในอาหารและเครื่องดื่มที่หลากหลายในจีน เช่น เค้ก กาแฟ และฮอทพอท โดยเฉพาะหลังจากเริ่มบังคับใช้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP แล้ว
อุตสาหกรรมหลายภาคของไทยในสองปีที่ผ่านมา เช่น การเกษตร เครื่องแต่งกาย และยานพาหนะได้รับผลประโยชน์จาก RCEP มีการลดหย่อนภาษีที่ช่วยกระตุ้นการค้าและการลงทุนของประเทศสมาชิก RCEP ให้เติบโตยิ่งขึ้น ในปี 2565 การค้าของไทยกับประเทศสมาชิก RCEP เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.11 โดยมีมูลค่าที่ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
RCEP ยังได้ส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าระหว่างจีนและไทย ตามคำกล่าวของนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 การค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศมีมูลค่าสูงถึง 1.051 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จีนยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยติดต่อกันเป็นปีที่ 11 และเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุด โดยผลไม้เมืองร้อนเพียงอย่างเดียวมีมูลค่าถึง 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 90 ของการส่งออกผลไม้ของไทย
มั่ว เจียหมิง ดีลเลอร์ผลไม้ในเมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซี จ้วง ทางตอนใต้ของจีน กล่าวว่า “ในฐานะที่เป็นผู้นำเข้าผลไม้ ความตกลง RCEP สร้างประโยชน์ให้เราอย่างแท้จริง ความนิยมมะพร้าวไทยที่กำลังเติบโตในจีนสร้างโอกาสใหม่ให้กับผม”
ต้องขอบคุณแผนริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (BRI) และ RCEP ทำให้มีการนำรูปแบบการค้าและการขนส่งที่หลากหลาย รวมถึงสินค้าไทยได้เข้าสู่ตลาดจีนในราคาที่น่าพอใจมากขึ้น
การขนส่งทุเรียนสดจากประเทศไทยไปยังนครฉงชิ่ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนผ่านทางรถไฟจีน-ลาว ภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ใช้เวลาเพียง 4 วันเท่านั้น ซึ่งช่วยย่นระยะเวลาอย่างมากเมื่อเทียบกับการใช้เส้นทางบกและทะเล ซึ่งก่อนหน้านี้ใช้เวลา 8 ถึง 10 วัน
หวง อิ๋ง ชาวเมืองหนานหนิงกล่าวว่า “สินค้าที่เมื่อก่อนนี้สามารถซื้อได้เมื่อเดินทางมาไทยเท่านั้น ขณะนี้มีสินค้าหลากหลายจากไทยจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นแล้ว และที่บ้านก็มีผลิตภัณฑ์จากไทยมากมาย ตั้งแต่ข้าว เครื่องปรุงรส ไปจนถึงหมอนและที่นอนยางพารา และผลิตภัณฑ์เสริมความงามและกันแดดที่ใช้ในชีวิตประจำวัน”
ข้อตกลงจาก RCEP ยังช่วยยกระดับห่วงโซ่อุตสาหกรรมของจีนและไทย ช่วยนำโอกาสใหม่ ๆ มาสู่องค์กรต่าง ๆ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เครื่องจักรสำหรับการก่อสร้างที่ผลิตโดยบริษัทกว่างซี เมสดา กรุ๊ป จำกัด (Guangxi Mesda Group Co. Ltd.) ได้เข้าสู่ตลาดในประเทศกลุ่มอาเซียน เช่น ไทย และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากลูกค้าในท้องถิ่น
หวง คังหัว ประธานบริษัทฯ กล่าวว่า “ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีความต้องการเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีขั้นสูงของจีนอย่างมาก เรามั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมในตลาดอาเซียน”
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ผู้ประกอบการจีนยื่นขอลงทุนในไทย 264 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 196.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าการลงทุนรวม 9.746 หมื่นล้านบาท (2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 116.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จีนจะยังคงรักษาตำแหน่งต่างประเทศที่ลงทุนในไทยรายใหญ่ที่สุดต่อไป
ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนาและผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึกแห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยกล่าวว่า “การลงทุนของชาวจีนผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เติบโต เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย”