ประชากรจีนลดลง ผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องให้มุ่งเน้นคุณภาพประชากร
ด้วยเหตุประชากรจีนลดลงประมาณ 2 ล้านรายในปีที่ผ่านมา กระตุ้นให้ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ในอนาคตจะเห็นจำนวนประชากรทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นควรหันมาให้ความสำคัญมากขึ้นกับการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์และเริ่มดำเนินมาตรการสนับสนุนการเจริญพันธุ์
ข้อมูลจากสำนักสถิติแห่งชาติจีนเผยเมื่อวันพุธว่า จำนวนทารกเกิดใหม่ในปีที่ผ่านมาลดลงประมาณ 540,000 คน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีจำนวนอยู่ที่ 9.02 ล้านคน
ประชากรผู้เสียชีวิตที่มีการบันทึกไว้มีจำนวน 11.1 ล้านคน ประชากรโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 1.41 พันล้านคน ลดลง 2.08 ล้านคน
ขณะเดียวกัน ในปี 2566 สัดส่วนประชากรวัยทำงานในช่วงอายุ 16-59 ปี ทยอยลดลงอยู่ที่ร้อยละ 61.3 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนประชากรวัย 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น 1.3 จุด อยู่ที่ร้อยละ 21.1
การลดลงของจำนวนประชากรทั้งหมดในปีที่แล้วสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักประชากรศาสตร์ เนื่องจากผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์มีจำนวนน้อยลง ความเต็มใจที่จะมีลูกต่ำ และการแต่งงานช้า ประกอบกับผลกระทบของโควิด-19 ส่งผลให้อัตราการเกิดของจีนทยอยลดลง
เหอ ตัน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยประชากรและการพัฒนาของจีน กล่าวว่า “แนวโน้มทั่วไปในระยะยาวในจีนคือจำนวนประชากรโดยรวมของจีนจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทราบด้วยว่า ภาวะเจริญพันธุ์ทั่วโลกกำลังลดลง รวมทั้งการพัฒนาที่ทันสมัยจะส่งผลให้เกิดสังคมสูงวัยและอัตราการเกิดต่ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
เธอกล่าวว่า “แม้จำนวนประชากรจะลดลง แต่จำนวนรวมทั้งหมดยังคงเป็นจำนวนที่มหาศาล และในขณะนี้ ในการประเมินข้อมูลประชากร คุณภาพของประชากรถือเป็นเกณฑ์ที่สำคัญมากกว่าจำนวน รวมทั้ง เมื่อประเมินการพัฒนาประชากร จำเป็นต้องใช้แนวทางที่ครอบคลุมซึ่งรวมถึงคุณภาพ โครงสร้าง และการกระจายตัวของประชากรด้วย”
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญยังได้เตือนถึงการที่จำนวนประชากรลดลงอย่างมากในระยะยาว เนื่องจากขาดมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการส่งเสริมการคลอดบุตร
เหอ ตันตั้งข้อสังเกตว่า ในการสร้างระบบสนับสนุนการเจริญพันธุ์ที่ดี ควรแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในทางปฏิบัติ เช่น ค่าที่อยู่อาศัยที่สูง ความวิตกกังวลเรื่องการศึกษา และภาระในการรักษาพยาบาล สิ่งสำคัญที่ควรทำคือการขยายความครอบคลุมด้านประกันการคลอดบุตร การยกระดับระบบสนับสนุนดูแลเด็ก และการคุ้มครองสุขภาพการเจริญพันธุ์ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นสู่ระดับชาติ รวมถึงการมีกฎหมายบังคับใช้เพื่อให้มั่นใจว่ามีการนำไปปฏิบัติ