จีนเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเชื่อมต่อสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์
ลิงที่ถูกฝังอิเล็กโทรดในสมองสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของแขนหุ่นยนต์เดี่ยวและคว้าสตรอเบอร์รี่โดยใช้แค่ “ความคิด” เท่านั้น
มีการเผยแพร่ความสำเร็จทางนวัตกรรมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ (brain-machine interface) หรือ บีเอ็มไอ (BMI)ของจีน ในงานฟอรัมจงกวนชุน ประจำปี ค.ศ. 2024 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่งเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา
ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เช่น ประสาทวิทยา อิเล็กทรอนิกส์เชิงคำนวณ และการแพทย์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บีเอ็มไอ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล้ำยุคในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ เป็นแรงผลักดันสำคัญที่นำไปสู่การปฏิวัติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมรอบใหม่
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวในฟอรัมจงกวนชุนครั้งนี้ว่า จีนไม่เพียงแต่จะกลายเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมที่สำคัญแต่ยังเป็นตลาดเป้าหมายของเทคโนโลยีนี้ด้วย
นายกู้ เสี่ยวซง นักวิชาการจากสถาบันวิศวกรรมศาสตร์จีนกล่าวว่าปัจจุบัน มีการใช้เทคโนโลยีบีเอ็มไอใน 40 ประเทศและภูมิภาคของโลก โดยเกือบร้อยละ 80 เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พร้อมระบุด้วยว่า จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีโครงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับบีเอ็มไอมากที่สุด โดยเป็นผลงานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่และเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมทั้ง การยื่นขอจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับบีเอ็มไอ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั่วโลก
เทคโนโลยีบีเอ็มไอที่ใช้เป็นหลักในวงการแพทย์ สามารถนำมาซึ่งโซลูชันใหม่ ๆ ในการวินิจฉัยและการรักษาสภาวะของระบบประสาท เช่น โรคลมบ้าหมู โรคพาร์กินสัน โรคซึมเศร้า อัมพาต โรคหลอดเลือดสมอง โรคอัลไซเมอร์ ความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ และออทิสติก
คนวงในอุตสาหกรรมเชื่อว่า นวัตกรรมเทคโนโลยีบีเอ็มไอ ทรัพยากรคลินิกที่หลากหลายและความต้องการในการรักษาโรคทางสมองอย่างมาก ล้วนเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมบีเอ็มไอของจีน
ในฐานะศูนย์กลางนวัตกรรมเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ที่กำลังเติบโตของโลก ปักกิ่งมีความแข็งแกร่งด้านการวิจัยและพัฒนาบีเอ็มไอ ได้สร้างความก้าวหน้าครั้งสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในการวิเคราะห์หลักการรับรู้ของสมองและการวิจัยโรคที่สำคัญ ด้วยอิทธิพลและขนาดของอุตสาหกรรมบีเอ็มไอ ซึ่งมีบทบาทนำในประเทศจีน
กรุงปักกิ่งเพิ่งจัดทำแผนเพื่อเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมบีเอ็มไอ โดยมีเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2569 จะบรรลุความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหลักของบีเอ็มไอ และบ่มเพาะองค์กรชั้นนำ และภายในปี พ.ศ. 2573 วิสาหกิขนาดกลางและขนาดย่อมหลายร้อยรายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมจะได้รับการสนับสนุนอย่างดีในเมืองหลวง และก่อเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมด้วยระบบเทคโนโลยีบีเอ็มไอที่ได้รับการพัฒนาอย่างดี
ตามแผนดังกล่าว กรุงปักกิ่งจะเสริมสร้างนวัตกรรมบูรณาการเทคโนโลยีหลัก เพิ่มปริมาณการจัดหาผลิตภัณฑ์บีเอ็มไอ และสร้างการพัฒนาที่ประสานงานกันในระบบนิเวศอุตสาหกรรม โดยจะส่งเสริมการนำร่องประยุกต์ใช้บีเอ็มไอใน 5 สาขา ได้แก่ การแพทย์ การดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยในอุตสาหกรรม การศึกษาและการกีฬา และชีวิตอัจฉริยะ