ผู้สืบทอดเครื่องแต่งกายกลุ่มชาติพันธุ์ปู้อีในมณฑลกุ้ยโจว

(People's Daily Online)วันพุธ 15 พฤษภาคม 2024

หลี่ ลี่ ผู้สืบทอดเครื่องแต่งกายประจำกลุ่มชาติพันธุ์ปู้อี้ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ในอำเภอชิงหลง มณฑลกุ้ยโจว ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีบทบาทสำคัญในการสืบทอดเทคนิคในการผลิตเครื่องแต่งกายชนเผ่าปู้อี

ชนเผ่าปู้อีมีประเพณีการทอผ้ามาตั้งแต่สมัยโบราณ มักแสดงความปรารถนาในชีวิตผ่านการทอผ้า การเย็บปักถักร้อย และงานฝีมืออื่น ๆ

ในฐานะที่เป็นสตรีชาวปู้อี หลี่ ลี่ได้เรียนรู้ทักษะต่าง ๆ เช่น การวาดภาพด้วยขี้ผึ้งและการย้อมผ้าจากแม่ของเธอตั้งแต่อายุยังน้อย หลังจากสั่งสมประสบการณ์มายาวนาน เธอรู้ลึกรู้ซึ้งในวัฒนธรรมปู้อี และมุ่งสานต่อวัฒนธรรมดังกล่าว

เธอกล่าวว่า “ฉันหวังว่างานหัตถกรรม เช่น การปักและการย้อมผ้าปู้อีจะถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น และพัฒนาโดยผ่านนวัตกรรมต่อไป”

เมื่อหลี่กลับมาที่ชิงหลงหลังจากไปทำงานที่ต่างอำเภอมาหลายปี เธอได้ถ่ายรูปตัวเองที่สวมชุดแบบดั้งเดิมในจุดหมายปลายทางที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่น ภาพถ่ายเหล่านี้เป็นที่สนใจของผู้คนจำนวนมาก ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจของเธอในการส่งเสริมวัฒนธรรมชาติพันธุ์ปู้อี

ในปี 2559 หลี่ลงทุนประมาณ 50,000 หยวน (ราว 250,000 บาท) เพื่อเริ่มต้นธุรกิจของเธอ ก่อตั้งบริษัท และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวข้องกับเครื่องแต่งกายปู้อี สามปีต่อมา เธอจดทะเบียนบริษัทอีกแห่ง โดยอุทิศตนเพื่อสืบทอดมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของเครื่องแต่งกายประจำชาติปู้อี และการพัฒนานวัตกรรมของวัฒนธรรมชนเผ่าปู้อี

หลี่ได้ผสมผสานองค์ประกอบของชาติพันธุ์ปู้อี รวมถึงการเย็บปักถักร้อยและการย้อมสีเข้ากับของใช้ประจำวัน และผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ เธอยังได้ผสมผสานขั้นตอนการผลิตเครื่องแต่งกายและงานฝีมือปู้อีแบบดั้งเดิมเข้ากับเทรนด์สมัยใหม่ โดยเติมพลังใหม่ให้กับเทคนิคการสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายปู้อีแบบดั้งเดิม

ในช่วงปลายปี 2562 หลี่กลับไปยังบ้านเกิดของเธอ เพื่อจ้างช่างฝีมือผู้มีประสบการณ์ จัดฝึกอบรมสตรีจากกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อเรียนรู้การทอผ้าด้วยมือ การย้อมพืช และเทคนิคอื่น ๆ ในการผลิตงานหัตถกรรมชาติพันธุ์ปู้อีที่มีเอกลักษณ์ และพัฒนางานหัตถกรรมพื้นบ้านมากขึ้น รวมทั้งได้สร้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับคนกว่า 200 คน

หลี่ยังใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตเพื่อส่งเสริมงานฝีมือของกลุ่มชาติพันธุ์อีกด้วย ในเดือนกรกฎาคม ปี 2565 หลี่เป็นผู้นำในการสร้างแหล่งวัฒนธรรมในอำเภอชิงหลง ประกอบด้วยร้านเย็บปักถักร้อยด้วยมือ เครื่องแต่งกายประจำชาติ หัตถกรรมประจำชาติ และประสบการณ์มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้อื่น ๆ

ปัจจุบัน กลุ่มวัฒนธรรมมีพื้นที่สำหรับจัดแสดงเครื่องแต่งกายประจำชาติและสัมผัสประสบการณ์หัตถกรรม รวมถึงโซนฝึกอบรมและโซนถ่ายทอดสด และอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัวเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์อี๋และกลุ่มชาติพันธุ์เหมียว รวมถึงการขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ส่งผลให้ได้รับคำสั่งซื้อและมีผู้เข้าชมจำนวนมาก

หลี่เล่าวว่าเธอมีผู้ติดตามออนไลน์กว่า 100,000 คน “ตอนนี้เรามีทีมงานถ่ายทอดสด โดยสมาชิกในทีมแบ่งปันสิ่งของที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เช่น ผ้าบาติก ผ้ามัดย้อม และการเย็บปักถักร้อยเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์”

สิ่งที่เป็นของประเทศก็เป็นของโลกเช่นกัน หลี่ทิ้งท้ายว่า “ฉันหวังว่าสักวันหนึ่ง จะสามารถนำช่างปักขึ้นสู่เวทีนานาชาติ เพื่อให้คนทั้งโลกได้รู้จักเครื่องแต่งกายมากมายของกลุ่มชาติพันธุ์และมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในชิงหลง”