การเดินทางของทุเรียนจากสวนไทยสู่ตลาดจีน

(People's Daily Online)วันพฤหัสบดี 16 พฤษภาคม 2024

ช่วงนี้ภาคตะวันออกของประเทศไทยเป็นฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียน ชาวสวนจึงยุ่งอยู่กับการหาคนงานเพื่อช่วยตัดทุเรียน

ศศิธร เจ้าของสวนทุเรียนในจังหวัดจันทบุรี ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 10 ปี สวนผลไม้ของเธอมีต้นทุเรียนมากกว่า 2,000 ต้น   จังหวัดจันทบุรีห่างจากกรุงเทพฯ ราว 250 กิโล เป็นแหล่งปลูกทุเรียนที่สำคัญในภาคตะวันออกของไทย

เธอกล่าวว่า “ตอนนี้เป็นฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียน และฉันได้จ้างคนงานกว่า 40 คนมาตัดทุเรียนทุกวัน” เธอเสริมว่าปีนี้ผลผลิตทุเรียนลดลงเนื่องจากภัยแล้ง แต่ความต้องการในตลาดจีนมีมาก

“เราจัดหาทุเรียนหลายสายพันธุ์ รวมถึงพันธุ์กระดุม ซึ่งเป็นพันธุ์ที่สุกก่อน และหมอนทองซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชาวจีน”

ทุเรียนที่เก็บมาจากสวนของศศิธรได้ถูกขนส่งไปยังโรงงานแปรรูปใกล้เคียงอย่างรวดเร็ว โรงงานแปรรูปเต็มไปด้วยทุเรียนสด คนงานหลายสิบคนกำลังยุ่งกับการคัดแยก ชั่งน้ำหนัก บรรจุใส่กล่องและลำเลียงขึ้นรถขนส่ง

วีระชัย ผู้จัดการโรงงานแปรรูปกล่าวกับซินหัวว่า จีนเป็นตลาดที่สำคัญมากสำหรับพวกเขา และปัจจุบันทุเรียนทั้งหมดจากโรงงานถูกส่งออกไปยังจีน

“ปีนี้โรงงานของเราได้ส่งออกทุเรียนไปจีนแล้ว 23 ตู้คอนเทนเนอร์” เขาเสริมว่า “ส่วนใหญ่ส่งออกไปด้วยสามวิธี ขนส่งทางอากาศ 20 เปอร์เซ็นต์ ขนส่งทางเรือ 40 เปอร์เซ็นต์และขนส่งทางรถ 40 เปอร์เซ็นต์”

ไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกทุเรียนรายใหญ่ของโลก ข้อมูลของสำนักงานศุลกากรทั่วไปของจีนระบุว่า ในปี 2566 จีนนำเข้าทุเรียนสด 1.426 ล้านตัน โดยเป็นทุเรียนสดของไทย 929,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 65.15 ของการนำเข้าทุเรียนสดทั้งหมดของจีน


ภาพจาก CFP

ผลไม้เมืองร้อนที่ผลิตในอาเซียนถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขการขนส่งและคลังสินค้า เคยเป็นเรื่องยากที่จะเข้าสู่ตลาดจีนเนื่องจากมีอายุการเก็บรักษาสั้น

ด้วยการสร้างเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียนที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ผลจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และโครงการเชื่อมต่อโครงข่ายหลายโครงการ เช่น “ระเบียงทางบก-ทางทะเลภาคตะวันตกสายใหม่” (New Western Land-sea Corridor) ตลอดจนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์แบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Logistics) และอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนอย่างรวดเร็ว ทุเรียน และผลไม้อื่น ๆ จากอาเซียนจึงสามารถขนส่งเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกยิ่งขึ้น

การนำเข้าและส่งออกที่เฟื่องฟูเป็นผลจากจากนโยบายปลอดภาษีและการปรับปรุงประสิทธิภาพในพิธีการศุลกากร หวง เฟยเฟย เจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำด่านโหย่วอี้กวนของจีนกล่าวว่า สำนักงานศุลกากรจีนได้ยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกในการกำกับดูแลอัจฉริยะและต่อเนื่อง สร้างช่องทางพิเศษสำหรับทุเรียนนำเข้าอย่างลุ่มลึกและดำเนินมาตรการอำนวยความสะดวกผ่านพิธีการศุลกากรหลายชุด เช่น ช่องทางสีเขียวสำหรับผลไม้นำเข้า เพื่อให้มั่นใจว่าผลไม้นำเข้าสามารถผ่านได้อย่างรวดเร็ว

ตลาดไห่จี๋ซิงในหนานหนิง เมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ภาคใต้ของจีน มีชื่อเสียงในการเป็นตลาดค้าส่งผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในกว่างซี เต็มไปด้วยบรรยากาศที่คึกคักในขณะกำลังขนทุเรียนลงรถบรรทุกจากประเทศไทย

มั่ว เจียหมิง พ่อค้าผลไม้ในเมืองหนานหนิงได้ขนส่งทุเรียนประมาณ 50 ตันจากไทยไปยังตลาดไห่จี๋ซิงทุกวัน และขายให้แก่ตลาดในประเทศผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ร้านค้าปลีกผลไม้ และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

มั่วได้นำเข้าทุเรียนมาเป็นเวลา 6 ปีแล้ว และเชื่อว่าตลาดทุเรียนของจีนยังคงมีศักยภาพมหาศาล เขากล่าวว่า “ขณะที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-อาเซียนยังคงแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตลาดผู้บริโภคยังคงฟื้นตัวและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ด้วยนโยบายและมาตรการที่เป็นประโยชน์ต่าง ๆ ผมเชื่อว่าทุเรียนและผลไม้อื่น ๆ จากอาเซียนจะมีโอกาสในตลาดจีนในวงกว้างมากขึ้นในอนาคต”