ไทยและจีนร่วมเปิดโครงการวิจัยจีโนมิกส์
ประเทศไทยพร้อมที่จะเริ่มโครงการวิจัยโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาเครื่องมือและแพลตฟอร์มการวิจัยสำหรับประชากรที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคหลอดเลือดแดงหัวใจแข็ง (atherosclerotic cardiovascular disease) และเสนอแผนคาดการณ์ความเสี่ยงและการแทรกแซงก่อนที่จะเกิดอาการ
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เปิดเผยถึงโครงการดังกล่าวในการประชุมนานาชาติด้านจีโนมิกส์ (ICG-19) ครั้งที่ 19 ประจำปี พ.ศ. 2567 ซึ่งจัดขึ้นที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจะร่วมมือกับบริษัท แบงคอก จีโนมิกส์ อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) (Bangkok Genomics Innovation Public Company Limited) หรือ BKGI ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพไทย-จีน เพื่อผลักดันโครงการโดยใช้ตัวชี้วัดทางชีวภาพใหม่ ๆ เช่น ไตรเมทิลามีน เอ็น-ออกไซด์ (Trimethylamine N-oxide: TMAO)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การทดสอบไตรเมทิลามีน เอ็น-ออกไซด์ TMAO มีศักยภาพที่จะปฏิวัติการป้องกันและการจัดการโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทย ด้วยการตรวจพบความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดตั้งแต่เนิ่น ๆ เราจะสามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนและลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคในระยะที่รุนแรงได้
ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า โรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น หัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และโรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตของคนไทย ประเทศไทยมีผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันประมาณ 100,000 รายต่อปี โรคหลอดเลือดสมองส่งผลกระทบต่อผู้คนประมาณ 300,000 คนต่อปี โดยภาครัฐมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี
การประชุมที่จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วันภายใต้หัวข้อ “โอมิกส์ สุขภาพ และชีวิตที่ยืนยาว” (Omics, Wellness, and Longevity) เป็นเวทีสำหรับนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ผู้กำหนดนโยบาย และผู้นำในอุตสาหกรรมจากทั่วโลก เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และทำงานร่วมกันในการวิจัยด้านจีโนมิกส์และเทคโนโลยีชีวภาพที่ล้ำสมัย
นางสาวศุภมาส อิศรภักดีกล่าวว่าเป็นเวลานับหลายทศวรรษที่บริษัท BGI ผู้ถือหุ้นหลักของ BKGI ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีมาสู่ประเทศไทย ช่วยยกระดับประเทศด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการดูแลสุขภาพไปอีกขั้น ความก้าวหน้านี้ช่วยให้คนไทยสามารถตรวจวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ด้วยการตรวจเลือดแบบง่าย ๆ และช่วยให้สามารถกำหนดแผนการรักษาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการระบุความเสี่ยงล่วงหน้า โครงการความร่วมมืออันล้ำสมัยนี้เป็นประโยชน์ต่อชาวไทยแล้วกว่า 1 แสนคน
นายเจเรมี่ เฉา ผู้จัดการทั่วไปของกลุ่มบริษัท บีจีไอ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าบริษัทได้เริ่มความร่วมมือกับสถาบันที่เกี่ยวข้องของไทยในภาคการดูแลสุขภาพในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความร่วมมือเหล่านี้ ได้แก่ การช่วยเหลือสถาบันไทยในการแนะนำเทคโนโลยีการทดสอบก่อนคลอด และความร่วมมือในโครงการป้องกันและรักษาโรคธาลัสซีเมีย
ประเทศไทยมีอัตราการเกิดโรคธาลัสซีเมียสูง โดยยีนที่เป็นสาเหตุได้รับการถ่ายทอดผ่านโครโมโซมออโตโซมระหว่างสมาชิกในครอบครัว ข้อมูลบ่งชี้ว่า คนไทยประมาณร้อยละ 30-40 เป็นพาหะของยีนธาลัสซีเมีย
นายเจเรมี่ เฉา กล่าวว่าทางบริษัทยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในไทยเพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการศึกษาด้านจีโนมิกส์ และฝึกอบรมผู้มีความสามารถเฉพาะทางในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ