อุทยานแห่งชาติทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนพบประชากรเสือป่าและเสือดาวเพิ่มขึ้น
ภาพหน้าจอนี้ถ่ายเสือโคร่งไซบีเรียที่อยู่ในป่าถูกติดตามด้วยกล้องอินฟราเรดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2566
ที่สำนักบริหารอุทยานซุ้ยหยาง อุทยานแห่งชาติเสือและเสือดาวจีนที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑล
เฮยหลงเจียง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน (ซินหัว)
จำนวนประชากรเสือโคร่งและเสือดาวที่อยู่ในป่าของอุทยานแห่งชาติเสือและเสือดาวทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ข้อมูลจากนายต้วน จ้าวกัง หัวหน้าฝ่ายจัดการอุทยาน ปัจจุบันมีเสือไซบีเรียประมาณ 70 ตัวและเสือดาวอามูร์ 80 ตัวอาศัยอยู่ในอุทยาน ในปี 2566เพียงปีเดียว มีลูกเสือโคร่งไซบีเรียเกิดใหม่ 20 ตัวและลูกเสือดาว 15 ตัว
การกระจายตัวของเสือเหล่านี้ยังคงขยายออกไปจนถึงชายขอบทางตะวันตกของอุทยาน โดยที่อยู่อาศัยพวกมันครอบคลุมพื้นที่กว่า 11,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 80 ของพื้นที่อุทยานทั้งหมด
อุทยานแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นโดยรวมเขตอนุรักษ์ธรรมชาติในอดีต 19 แห่ง โดยเริ่มการนำร่องในเดือนสิงหาคม 2560 เป็นหนึ่งในอุทยานแห่งชาติ 5 แห่งแรกของจีน และได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2564
นายต้วนกล่าวว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการริเริ่มโครงการฟื้นฟูที่อยู่อาศัยในอุทยานเพื่อเรียกคืนและฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ขนาด 2,000 เฮกตาร์ ควบคู่ไปกับการลาดตระเวนป้องปรามการลักลอบล่าสัตว์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้แน่ใจว่าสภาพแวดล้อมทางนิเวศอยู่ในระดับที่มีคุณภาพสูง ประชากรเสือโคร่งและเสือดาวกำลังฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
ในปี 2558 ในจีนมีจำนวนเสือโคร่งไซบีเรียและเสือดาวอามูร์ตามธรรมชาติ 27 ตัวและ 42 ตัว ตามลำดับ อัตราการรอดชีวิตของเสือโคร่งไซบีเรียและลูกเสือดาวอามูร์ตามธรรมชาติในอุทยานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33 ในปี 2558 เป็นเกือบร้อยละ 50 ในปัจจุบัน
เสือไซบีเรียหรือที่รู้จักกันในชื่อเสืออามูร์ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางตะวันออกไกลของรัสเซียและทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เสือโคร่งไซบีเรียประมาณ 500 ตัวเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดในโลก เชื่อกันว่าอาศัยอยู่ในป่า
เสือดาวอามูร์หรือที่รู้จักกันในชื่อเสือดาวฟาร์อีสเทิร์น ก็เป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุดในโลกเช่นกัน
เพื่อส่งเสริมความกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ อุทยานได้ตั้งกลไกชดเชยความเสียหายต่อสัตว์ป่าโดยใช้เงินกว่า 28 ล้านหยวน (ราว 140 ล้านบาท) เพื่อจัดการกับความเสียหายและการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่า นอกจากนี้ อุทยานฯ ยังได้แจ้งเตือนแบบเรียลไทม์เมื่อพบเห็นสัตว์ขนาดใหญ่ และใช้เซ็นเซอร์สั่นสะเทือนแบบใยแก้วนำแสง และสิ่งกีดขวางทางกายภาพ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่า
นอกจากนี้ อุทยานฯ ได้ยุติการทำเหมืองทุกประเภทและเริ่มการเพาะปลูกผลิตภัณฑ์จากป่าแบบพิเศษ โดยให้คนในท้องถิ่นมาเป็นผู้ดูแลระบบนิเวศ
นายต้วนกล่าวว่าความพยายามเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยให้จำนวนประชากรเสือและเสือดาวเพิ่มขึ้นแต่ยังเพิ่มจำนวนสัตว์ที่เป็นเหยื่อมากกว่าเดิมถึงสองเท่าด้วย เช่น กวางซิก้า หมูป่า และกวางโร นอกจากนี้ ยังมีการบันทึกการพบเห็นนกหายาก เช่น นกกระเรียนขาวและนกกระเรียนคอขาวในอุทยานแห่งนี้เป็นครั้งแรกในรอบไม่กี่ปีมานี้ และเพิ่มเติมด้วยว่า อุทยานฯ จะยังคงเสริมสร้างการคุ้มครองและการจัดการต่อไป และมุ่งมั่นที่จะค้นหาแนวทางเพิ่มเติมเพื่อให้บรรลุการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ