การอบรมการจัดการและการอนุรักษ์ระบบมรดกทางการเกษตรโลกของไทยจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง

(People's Daily Online)วันพุธ 22 พฤษภาคม 2024

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม กระทรวงพาณิชย์จีนจัดอบรม “การจัดการและการอนุรักษ์ระบบมรดกทางการเกษตรโลกของประเทศไทย” ณ กรุงปักกิ่ง โดยมีศูนย์บริการการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศภายใต้กระทรวงเกษตรและกิจการชนบทจีนเป็นผู้ดำเนินงาน

นายหวาง ลี่ผิง อธิบดีกรมเอเชีย กระทรวงพาณิชย์จีน, นายเหลย ฮ่าว รองผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมกระทรวงพาณิชย์จีน, นายกู้ เว่ยปิง ผู้อำนวยการศูนย์บริการการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศภายใต้กระทรวงเกษตรและกิจการชนบทจีน และนายสิทธิกร ฉันทแดนสุวรรณ อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ได้ร่วมกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการอบรม

นายกู้ เว่ยปิง กล่าวสุนทรพจน์ใจความส่วนหนึ่งว่า รัฐบาลจีนให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการคุ้มครองมรดกทางการเกษตรที่สำคัญระดับโลก (Globally Important Agricultural Heritage Systems หรือ GIAHS) มาโดยตลอด หวังว่าจะแบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ของจีนในการจัดการและปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมการเกษตรที่สำคัญระดับโลกกับเพื่อนชาวไทยทุกคนผ่านชั้นเรียนฝึกอบรมนี้

มรดกทางการเกษตรโลกคือการตกผลึกของภูมิปัญญาในทางปฏิบัติทางเกษตรกรรม องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดตัวโครงการริเริ่มการคุ้มครองมรดกทางการเกษตรที่สำคัญระดับโลกตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2545 จีนตอบสนองต่อความคิดริเริ่มนี้อย่างแข็งขันและยังคงส่งเสริมแนวทางปฏิบัติในการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมทางการเกษตรต่อไป


ผู้ร่วมอบรมถ่ายภาพร่วมกัน (พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์)

นายจิตติศักดิ์ ศรีปัญญา ผู้อำนวยการกองนโยบายและเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรและเกษตรกรรมยั่งยืนให้สัมภาษณ์แก่พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์ว่า จีนและไทยมีประวัติศาสตร์การแลกเปลี่ยนมายาวนานโดยเฉพาะด้านการเกษตร ทั้งสองประเทศเป็นประเทศเกษตรกรรมที่สำคัญ ในยุคปัจจุบัน เราจำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพและพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เราขอขอบคุณรัฐบาลจีนที่ให้การสนับสนุนมายาวนาน ซึ่งทำให้การพัฒนาการเกษตรในไทยได้รับประโยชน์จากประสบการณ์ของประเทศจีน

นายชเนศ มงคลรักษ์เจริญ นักวิเคราะห์แผนและนโยบาย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไทย ให้ความเห็นว่า ความร่วมมือทางการเกษตรระหว่างไทย-จีนน่าจะเป็นความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับประเทศอาเซียน “เรามีโครงการความร่วมมือมากกว่า 200 โครงการ มีการส่งผู้เข้าอบรมมาฝึกอบรมกับจีนมากกว่า 500 คนและได้มีการประชุมร่วมกันมาแล้ว 12 ครั้ง เรามีความร่วมมือกันใกล้ชิดมากครับทั้งในกรอบพหุภาคีและทวิภาคี ตั้งแต่ปี 2546 ที่ไทยและจีนได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางการเกษตร”

ขณะนี้ จีนมีมรดกทางวัฒนธรรมทางการเกษตรที่สำคัญทั่วโลก 22 รายการ ซึ่งครองอันดับหนึ่งของโลก นางสาวเบญจวรรณ บัวขวัญ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ให้สัมภาษณ์แก่พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์ว่า ชั้นเรียนฝึกอบรมในครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดี และหวังว่าจะได้เรียนรู้ความรู้และประสบการณ์ทางวิชาชีพมากมาย รวมทั้งสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้เผยแผ่ให้แก่นักศึกษา นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปในไทยเพื่อช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมและการเกษตรของประเทศไทย

นางอมรรัตน์ กาวชู ผู้อำนวยการสำนักงานการเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพัทลุง ก็คาดหวังจะเรียนรู้ประสบการณ์ของประเทศจีนเกี่ยวกับการขจัดปัญหาความยากจนและภูมิปัญญาด้านการจัดการชนบท รวมทั้งเพื่อเพิ่มพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรในไทยมากขึ้น

เมื่อปลายปี 2566 ไทยได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางการเกษตรที่พื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยเป็นแห่งแรก นายเชิดศักดิ์ เกื้อรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิพื้นที่ชุมน้ำทะเลน้อยกล่าวว่า “เราประสบความสำเร็จที่ได้รับการประกาศเป็นครั้งแรก และหลังจากนั้นจีนก็ยังให้ความอนุเคราะห์ว่าจะต้องบริหารจัดการอย่างไรต่อไปให้มีความยั่งยืน ฉะนั้นเราได้เห็นต้นแบบวิธีบริหารจัดการของจีนที่ประสบความสำเร็จจริง ชุมชนได้รับผลประโยชน์จริง ซึ่งเราสามารถนำไปประยุกต์ใช้บริหารจัดการของไทยเราด้วย”  นายคณนาถ หมื่นหนู สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงควายทะเลน้อยกล่าวว่า “จะใช้เวลาตรงนี้ให้คุ้มค่าที่สุดให้สมกับความตั้งใจของรัฐบาลจีนที่ให้โอกาสมาศึกษาเรียนรู้และจะได้นำไปปรับปรุงพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพวิถีชีวิตและสภาพพื้นที่ของไทย เพื่อพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ให้สมกับที่ทางองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) มีความมุ่งมั่นตั้งใจในเรื่องนี้”

ทางคณะจะเดินทางไปทัศนศึกษาที่มณฑลเจ้อเจียงและมณฑลฝูเจี้ยน เพื่อสัมผัสกับมรดกโลกทางวัฒนธรรมการเกษตร และเรียนรู้การจัดการดูแลระบบมรดกทางการเกษตรโลกของจีน

หลักสูตรการฝึกอบรมครั้งนี้เป็นระยะเวลา 14 วัน โดยมีเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานทางการเกษตรและสำนักงานที่เกี่ยวข้องจากไทยจำนวน 24 คนเข้าร่วม เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์และมูลนิธิที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง จะมีการแลกเปลี่ยนเชิงลึกในประเด็นต่าง ๆ เช่น การขุดค้นมรดกวัฒนธรรมทางการเกษตร