วิสาหกิจจีนลงทุนในต่างประเทศภายใต้ความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

(People's Daily Online)วันพฤหัสบดี 30 พฤษภาคม 2024

วิสาหกิจจีนกำลังก้าวสู่เวทีระดับโลกมากขึ้น สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของจีนในการเสริมสร้างความร่วมมือภายใต้ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”

จีนได้เสนอข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ในปี 2556 และได้ริเริ่มโครงการหลายพันโครงการในกว่า 150 ประเทศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัดฉีดความเชื่อมั่นและความมีชีวิตชีวาให้กับโลกผ่านการเปิดกว้างและความร่วมมือในระดับสูง ภายใต้ใต้สถานการณ์ที่ทั่วโลกเผชิญกับลัทธิกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น

ท่ามกลางภูมิหลังเช่นนี้ กรุงปักกิ่งจัดงานมหกรรมการลงทุนต่างประเทศของจีน (China Overseas Investment Fair: COIFAIR) ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 โดยมีตัวแทนธุรกิจกว่า 2,200 รายจากเกือบ 100 ประเทศและภูมิภาค มาสำรวจโอกาสทางธุรกิจและการค้าผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในงาน

งานประจำปีนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้เป็นเวทีในการส่งเสริมการลงทุนแบบสองทาง และส่งเสริมความร่วมมือเชิงลึกในประเทศหุ้นส่วนความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ด้วยหัวข้อ “โอกาสใหม่สำหรับการพัฒนาระดับโลก พิมพ์เขียวใหม่สำหรับการลงทุนในต่างประเทศ”

รัฐวิสาหกิจที่บริหารโดยส่วนกลาง ซึ่งเป็นแนวหน้าในความพยายามขยายธุรกิจในต่างประเทศของจีน ได้พัฒนาความก้าวหน้าของประเทศและภูมิภาคที่เข้าร่วมในข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่ง และการพัฒนาทรัพยากร

นอกจากนี้ ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทเอกชนของจีนจำนวนมากขึ้นได้เลือกที่จะลงทุนในต่างประเทศเพื่อแสวงหาโอกาส ในขณะที่การแข่งขันในประเทศร้อนแรงขึ้น

Aion แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่ดำเนินงานโดยบริษัทแม่ กว่างโจว ออโตโมบิล กรุ๊ป (Guangzhou Automobile Group หรือ GAC) ของจีน เป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของบริษัทรถยนต์พลังงานใหม่ของจีนที่กระตือรือร้นเหล่านี้ ซึ่งกำลังรุกเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ

นายหลิว เฟยเหลย เลขานุการคณะกรรมการบริษัท เจเอซี ไอออน (GAC Aion) ให้สัมภาษณ์กับซินหัวว่าความสำคัญของยุทธศาสตร์ขยายธุรกิจในต่างประเทศขอของบริษัทไม่เพียงแค่การส่งออกสินค้าและเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ค่อนข้างเชื่อมโยงอย่างซับซ้อนกับการเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานในท้องถิ่นและเครือข่ายอุตสาหกรรมอีกด้วย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” มีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ และส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศหุ้นส่วนหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางอย่างเป็นระบบ ซึ่งได้สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อสำหรับบริษัทจีนในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ

เดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เปิดตัวรถยนต์รุ่นเรือธง “AION Y” ในตลาดประเทศเนปาล ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญ นอกจากนี้ ยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์ได้ประกาศความตั้งใจที่จะก่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซีย เพื่อขยายธุรกิจในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้วยความพยายามในการขยายการดำเนินงานไปทั่วโลก บริษัทฯ จึงครองอันดับสามในส่วนแบ่งตลาดโลก ตามหลัง BYD และ Tesla เท่านั้น

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า การลงทุนของจีนโดยตรงในต่างประเทศที่ไม่ใช่ภาคการเงินในประเทศหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางในช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวน 77.77 พันล้านหยวน (ราว 6,524 พันล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งบ่งชี้ว่าความร่วมมือภายใต้“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” กำลังได้รับความนิยม

นายวลาดิมีร์ โนรอฟ อดีตเลขาธิการองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า “การลงทุนของจีนมีความสำคัญสูงสุด เราซาบซึ้งในการลงทุนจากหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เนื่องจากการลงทุนครั้งนี้ช่วยส่งเสริมการพัฒนาในภูมิภาคเอเชียกลางอย่างมีนัยสำคัญ และช่วยเร่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีระดับสูง การพัฒนาเหล่านี้จะช่วยปลดล็อกศักยภาพของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคต่อไป”