งานไทยเฟสติวัลในกรุงปักกิ่งกระตุ้นและส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวไทย-จีน

(People's Daily Online)วันจันทร์ 01 กรกฎาคม 2024
งานไทยเฟสติวัลในกรุงปักกิ่งกระตุ้นและส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวไทย-จีน
นางสาวอาทินันท์ อินทรพิมพ์ อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตร สำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตร สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่งให้สัมภาษณ์แก่พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์ที่บูธฝ่ายการเกษตรในงานเทศกาลไทย เมื่อภาพถ่ายเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2567 (พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์)

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง (สอท.) ได้จัดงานเทศกาลไทย (ไทยเฟส) เป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 9 ณ กลางลานเขตศูนย์กลางธุรกิจซานหลี่ถุน เมื่อวันที่ 21-23 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อร่วมส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ธุรกิจไทยและจีน ตลอดจนเพื่อให้ชาวจีนและชาวไทยได้ร่วมต้อนรับการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนในปี 2568 งานนี้ได้รับการตอบรับจากชาวจีนและชุมชนชาวไทยในกรุงปักกิ่งอย่างดียิ่ง โดยตลอด 3 วันมีผู้มาร่วมงานมากกว่า 30,000 คน

งานเทศกาลไทยนอกจากจะเป็นเทศกาลที่นำเสนอวัฒนธรรมไทยในหลากหลายด้านแล้ว ยังครอบคลุมถึงการค้าขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ซึ่งในบริบทของภาคบริการก็รวมทั้งการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมภาพยนตร์ และเพลงด้วย บวกรวมทั้งหมดแล้วเป็นการนำเสนอที่กลมกล่อม ลงตัว และเข้าถึงชาวจีนทุกเพศทุกวัย

มุ่งสร้างความร่วมมือทางภาคเกษตรมากยิ่งขึ้น

นางสาวอาทินันท์ อินทรพิมพ์ อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตร ประจำ สอท. ให้ความเห็นว่า งานไทยเฟส เป็นโอกาสในการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในทุกด้าน ตั้งแต่วัฒนธรรม การแสดง อาหารการกินและผลไม้ เมื่อพูดถึงงานไทยเฟส สิ่งที่พลาดไม่ได้ในงานก็คือผลไม้ไทย ทางฝ่ายเกษตรจะร่วมจัดงานเทศกาลไทยทุกปี เพื่อสร้างการรับรู้ให้คนจีนรู้จักผลไม้ไทยมากขึ้น เช่นในปีนี้ เป็นปีแรกที่จัดขึ้นที่ซานหลี่ถุน แหล่งวัยรุ่นที่โด่งดังที่สุดในปักกิ่ง จึงนำเสนอกิจกรรมที่พิเศษที่สุดมีทั้งการเล่นเกม รับรางวัลผลไม้ การจำหน่ายผลไม้ไทยจากผู้ประกอบการชาวจีนจากตลาดขายส่งในปักกิ่งในราคาย่อมเยา เช่น ทุเรียน และมะพร้าวปอกเปลือกที่รับประทานได้ทั้งลูก

นางสาวอาทินันท์ให้ข้อมูลเพิ่มว่า “ปัจจุบัน ไทยส่งผลไม้มาจีนได้ 22 ชนิด และสินค้าเกษตรอื่น ๆ ตามรายการที่อนุญาต เราพยายามเร่งผลักดันให้มีการเปิดตลาดกับจีนให้มีการส่งสินค้าเข้าจีนมากขึ้น ซึ่งในบางรายการอยู่ ระหว่างการเจรจา เราคาดหวังว่าในโอกาสครบรอบ 50 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-ไทยในปี 2568 จะเป็นโอกาสที่ไทย โดยกระทรวงเกษตรฯ จะสามารถเปิดตลาดมายังจีนได้มากขึ้น” โดยสินค้าที่มีแผนและกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อนำเข้าจีน เช่น มังคุดแช่แข็ง สละ อินทผลัม กุ้งก้ามกรามมีชีวิต ปลากระพงแช่แข็ง

เมื่อพูดถึงความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างจีนและไทย นางสาวอาทินันท์กล่าวว่า “จีนสนับสนุนไทยในการอบรมวิธีการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยจัดฝึกอบรมทั้งทางทฤษฎีและการลงพื้นที่ปฏิบัติ เช่น ใบชา ไหม” นอกจากนี้ ไทยและจีนยังมีความร่วมมือทางด้านการเกษตรอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นความร่วมมือทางวิชาการในสิ่งที่ไทยยังขาดองค์ความรู้ ก็จะทำความร่วมมือกับทางการจีนจัดออกมาในหลากหลายรูปแบบ เช่น โครงการนำร่อง โครงการทำวิจัยร่วมกัน โครงการฝึกอบรม ซึ่งในโอกาสครบรอบ 50 ปีน่าจะมีโครงการอื่น ๆ ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป

ตราแสดงคุณภาพสินค้าเพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค

นางสาวนลินทิพย์ หอมวิเศษวงศา อัครราชทูตฝ่ายพาณิชย์ ประจำ สอท. ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวพีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์ ในงานเทศกาลไทยครั้งนี้ว่า งานเทศกาลไทย 2024 ครั้งนี้ ทาง สอท. จัดขึ้นภายใต้ธีม IGNITE THAILAND โดยจับประเด็น 5 อย่างที่เป็นวัฒนธรรมและตัวตนของไทย ได้แก่ Food, Festival, Fashion, Fighting, และ Film ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีอย่างยิ่ง วัตถุประสงค์อย่างหนึ่งในการจัดงานคือการสร้างความสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนต่อประชาชน

งานไทยเฟสครั้งนี้ ในส่วนของฝ่ายพาณิชย์ฯ ได้ร่วมจัดแสดงบูธให้ความรู้แก่ผู้เยี่ยมชมในเรื่องตราสินค้าที่แสดงถึงคุณภาพของสินค้าและบริการของไทยที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ผู้ซื้อหรือใช้บริการมั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการที่ดี เช่น ตราสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจงที่คุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้น ๆ เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว และตรารวงข้าวเขียว ซึ่งเป็นตรารับรองคุณภาพข้าวหอมมะลิไทย

นางสาวนลินทิพย์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวจีนนิยมสินค้าที่มีคุณภาพสูง ไทยเราก็มีการมอบตราให้แก่สินค้าเพื่อเป็นเครื่องยืนยันถึงคุณภาพ นอกจากนี้ ธุรกิจในภาคบริการ เช่น การแสดงคอนเสิร์ต ละคร และการสตรีมมิ่งล้วนเป็นบริการที่ก่อให้เกิดการรู้จักระหว่างกันมากยิ่งขึ้นทั้งไทยและจีน ช่วยสร้างสัมพันธไมตรีและสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ดั่งเช่นที่เห็นได้จากงานเทศกาลไทยครั้งนี้ที่ได้รับการตอบรับอย่างดี

นางสาวนลินทิพย์ให้ความเห็นว่า คนไทยควรภูมิใจในสิ่งที่เป็นไทย “วิถีไทยเป็นสิ่งที่ดีที่สุด” คือ วิถีที่มีการปรับเปลี่ยนไปตามสิ่งแวดล้อมภายนอก แต่สิ่งที่ไม่มีใครลอกเลียนแบบได้เลยคือ “ความนุ่มนวล ความอ่อนโยน อบอุ่น สนุกสนาน การเคารพในผู้อาวุโสและทัศนคติที่เปิดรับ” ซึ่งเป็นเสน่ห์ของไทย และสะท้อนให้เห็นในงานครั้งนี้ นอกจากนี้ การผสมผสานของแต่ละวัฒนธรรมก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ดูได้จากในงานไทยเฟสครั้งนี้ที่มีเมนูอาหารที่ผสมผสานความเป็นไทยและจีน อีกทั้ง เครื่องปรุงไทยกับอาหารจีนก็สามารถอยู่ด้วยกันได้

เมื่อกล่าวถึงความร่วมมือด้านการค้าระหว่างไทยและจีน นางสาวนลินทิพย์ให้ข้อมูลว่า ไทยและจีนเป็นคู่ตกลงการค้าเสรีระหว่างกันภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2548 สินค้าที่นำเข้าระหว่างกันก็มีการลดภาษีหรือทยอยยกเลิกภาษี ซึ่งอย่างน้อยต้องถึงจำนวนร้อยละ 90 ของรายการสินค้าส่งออกทั้งหมด นอกจากนี้ ภายใต้กรอบความร่วมมือ RCEP (15 ประเทศสมาชิกได้แก่ อาเซียน จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ถือเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก การนำเข้าสินค้าจากประเทศในกรอบ RCEP มาผลิตสินค้าในประเทศ และส่งออกไปขายภายในประเทศสมาชิก RCEP ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการสร้างบริการและผลิตสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งต้องทำตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้า เมื่อก่อนไทยมีกับแต่ละประเทศก็ได้เพียงสองฝ่าย แต่ในกรอบ RCEP ทุกประเทศสมาชิกได้ประโยชน์ร่วมกันแบบวิน-วิน

การท่องเที่ยวไทยเน้นเชิญชวนชาวจีนเที่ยวอีสาน

นางสาวภัคนันท์ วินิจชัย ผู้อำนวยการ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สนง. กรุงปักกิ่ง กล่าวถึงการจัดงานในปีนี้ว่ามีความพิเศษแตกต่างจากทุกปี โดยปีแรก ๆ ที่ร่วมจัดงานไทยเฟส ขณะนั้นอยู่ในช่วงโควิด ยังไม่สามารถเดินทางออกต่างประเทศได้อย่างสะดวก ทาง ททท. ได้ทำแคมเปญประเทศไทยคิดถึงคุณ (ไท่กั๋วเสียงหนี่) เพื่อให้ชาวจีนนึกถึงไทยเป็นประเทศแรกเมื่อเปิดประเทศ

นางสาวภัคนันท์เสริมว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว ททท. ร่วมมือจัดเทศกาลไทยโดยการเน้นนำเสนอให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์สั้น ๆ เช่น ในปีก่อนหน้า เราทำขนมครก สแกนเงินบริจาคนำไปช่วยช้างที่เชียงใหม่ในช่วงโควิด ปีต่อมา เรายกสถานีรถไฟตลาดร่มหุบ ดีไอวายดอกไม้หวาย และสานปลาตะเพียนมาให้สัมผัส มาในปีนี้ เราจัดงานนอกสถานที่เป็นครั้งแรก ประกอบกับทางรัฐบาลต้องการใช้ประโยชน์ของรถไฟความเร็วสูงจากจีน-ลาว และสามารถเดินทางเชื่อมต่อเข้าไทยได้ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ในปีนี้ ททท.จึงได้จัดแสดงซุ้ม “ทุง หรือตุง” สิ่งประดิษฐ์ทำมือที่มีสีสันสวยงามนิยมใช้ในงานมงคลของไทยในภาคอีสานและภาคเหนือ และให้ผู้เยี่ยมชมได้ถ่ายรูปกับดอกบัวแดงของอุดรธานีที่โฟโต้บูธ เพื่อสนับสนุนการเดินทางระหว่างประเทศ

นางสาวภัคนันท์เน้นถึงความร่วมมือระหว่างไทยและจีนในด้านการท่องเที่ยวว่า ปีนี้ ททท. นำเสนอสิ่งที่พิเศษจากปีก่อน ๆ คือ ได้เชิญเอเจนซี่หลักของจีนมานำเสนอแพคเก็จ เช่น ยูทัวร์ บริษัทท่องเที่ยวรายใหญ่ของจีน, ซีทริป แพลทฟอร์มออนไลน์ด้านการท่องเที่ยว, 6 เหรินโหยว ผู้ให้บริการการท่องเที่ยวแบบเฉพาะกลุ่ม, การบินไทย และสายการบินไห่หนาน รวมทั้งเชิญมาสคอตลาบูบู้มาโชว์ตัวในฐานะว่าที่ทูตการท่องเที่ยวไทยคนใหม่ด้วย

นางสาวนลินทิพย์ หอมวิเศษวงศา อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายพาณิชย์ สำนักงานพาณิชย์ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่งให้สัมภาษณ์แก่พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์ที่บูธฝ่ายพาณิชย์ในงานเทศกาลไทย ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2567 (พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์)
บูธของสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกรุงปักกิ่งและบริษัทผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวของจีนในงานเทศกาลไทย ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2567 (พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์)
นางสาวภัคนันท์ วินิจชัย ผู้อำนวยการ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกรุงปักกิ่งให้สัมภาษณ์แก่พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์ในงานเทศกาลไทย ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2567 (พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์)
การแสดงดนตรีไทยและดนตรีจีนบรรเลงร่วมกันในงานเทศกาลไทย ณ กรุงปักกิ่ง ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2567 (เอื้อเฟื้อภาพจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง)