ในครึ่งแรกของปี 2567 จีดีพีจีนขยายตัว 5%

(People's Daily Online)วันอังคาร 16 กรกฎาคม 2024

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุเมื่อวันจันทร์ (15 ก.ค.) ว่า จีดีพีจีนในครึ่งแรกของปี 2567 ขยายตัวร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 จีดีพีจีนมีมูลค่าประมาณ 61.68 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 308.4 ล้านล้านบาท)

ในไตรมาสที่สอง จีดีพีจีนขยายตัวร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุในคำแถลงที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจว่า “โดยภาพรวมในไตรมาสแรก เศรษฐกิจจีนยังคงปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในลักษณะที่มั่นคง” และได้อ้างถึงการสนับสนุนจากแรงจูงใจเชิงนโยบาย การฟื้นตัวของอุปสงค์จากภายนอก และการพัฒนากำลังผลิตที่มีคุณภาพใหม่

ตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในครึ่งแรกของปี อุตสาหกรรมที่สอง (การผลิตวัตถุสำเร็จรูป) ขยายตัวร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา นำหน้าอุตสาหกรรมที่ 1 หรืออุตสาหกรรมเบื้องต้น และภาคบริการซึ่งมีการขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 และร้อยละ 4.6 ตามลำดับ

ในไตรมาสที่สอง เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส

ภาคการบริโภคยังคงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโต โดยภาคการบริโภคขั้นสุดท้ายมีสัดส่วนร้อยละ 60.5 ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปี ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของจีดีพีร้อยละ 3

อัตราการว่างงานในเมืองที่ได้รับการสำรวจของจีนอยู่ที่ร้อยละ 5.1 ในครึ่งแรกของปี ลดลงร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนกล่าวว่า การเติบโตเป็นชัยชนะที่ยากจะได้มาในฐานะที่จีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกกำลังเผชิญกับสภาวะความไม่แน่นอน ความซับซ้อนและปัจจัยภายนอกที่รุนแรง รวมทั้งการท้าทายใหม่ ๆ จากการปรับโครงสร้างภายในประเทศ

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุว่า การเติบโตในไตรมาสสองที่อ่อนแอลงนั้นเกิดจากปัจจัยในระยะสั้น เช่น สภาพอากาศสุดขั้วและน้ำท่วม แต่ยังสะท้อนถึงความท้าทายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากอุปสงค์ที่มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ และกระแสเศรษฐกิจในประเทศที่ไม่ราบรื่น

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ระบุว่า “จากมุมมองทั้งในระดับพื้นฐาน และระยะกลางถึงระยะยาว ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่จะรักษาการเติบโตในระยะยาวยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และแนวโน้มการพัฒนาคุณภาพสูงก็ไม่เปลี่ยนแปลง” โดยให้ข้อสังเกตว่าเศรษฐกิจจีนยังคงเป็นกลไกสำคัญสำหรับการเติบโตทั่วโลก