อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมแพร่หลายในจีน ให้บริการเชื่อมต่อได้ในทุกพื้นที่

(People's Daily Online)วันพฤหัสบดี 18 กรกฎาคม 2024

ในสถานที่ห่างไกลและทุรกันดารเช่นอำเภอปกครองตนเองยี่ว์หลงน่าซีในมณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน การใช้สถานีฐานเพื่อเชื่อมต่อสัญญาณมักจะเป็นเรื่องยาก พนักงานการไฟฟ้ามักจะประสบกับปัญหาสัญญาณที่ไม่เสถียร ความเร็วของอินเทอร์เน็ตที่เชื่องช้าและการเชื่อมต่อที่ยากลำบาก แต่ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องอดีตไปแล้ว

ผู้ตรวจสอบไฟฟ้าสามารถส่งคลิปวีดิโอเรียลไทม์ คำสั่งและข้อมูลอื่น ๆ ไปยังศูนย์ควบคุมที่ห่างออกไป 500 กิโลเมตรได้อย่างง่าย ๆ เป็นเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มาพร้อมกับอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม

ไม่เพียงแต่ในหุบเขาลึกเท่านั้น ที่ชายทะเล ประชาชนก็สามารถใช้เน็ตผ่านดาวเทียมได้ อุตสาหกรรมนี้กำลังบูมในจีน ความคืบหน้าในอุตสาหกรรมนี้มักเป็นข่าวพาดหัวระดับประเทศ ตั้งแต่การก่อตั้งอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมวงโคจรสูงดวงแรก ไปจนถึงการเปิดตัวดาวเทียมสื่อสารวงโคจรระดับกลางดวงแรก เมื่อเดือนพฤษภาคม มีการเสนอบริการเทคโนโลยีทางอวกาศและการทดสอบของจีนในประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพระดับโลก

อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมเป็นการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบหนึ่งที่ใช้ดาวเทียมบนวงโคจรในอวกาศส่งสัญญาณมายังสถานีภาคพื้นดิน ดาวเทียมแต่ละดวงสามารถเป็นสถานีฐานสำหรับโทรศัพท์มือถือ ช่วยให้ผู้ใช้งานทั่วโลกได้เข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตที่สะดวกสบาย

ตามที่เหอ ซานเปา นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและสารสนเทศปักกิ่งกล่าว การสื่อสารด้วยดาวเทียมในช่วงต้น ๆ มีไว้เพื่อสำหรับการส่งสัญญาณแพร่ภาพโทรทัศน์ข้ามมหาสมุทร และโทรศัพท์ทางไกล อย่างไรก็ดี เราได้เข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ซึ่งการเข้าถึงบรอดแบรนด์ส่วนบุคคลเป็นประเด็นสำคัญ

อิน เหาฉง นักวิจัยอาวุโสจากบริษัทไชน่า แซทเทิลไลท์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ระบุว่า การครอบคลุมของสัญญาณอินเทอร์เน็ตบนมือถือเข้าถึงเพียงแค่พื้นที่ส่วนเล็ก ๆ ของโลก การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ทะเลทราย มหาสมุทรและป่าต่าง ๆ ต้องอาศัยการเชื่อมต่อจากสัญญาณดาวเทียม

อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมได้ขยายขอบเขตการใช้งานอย่างต่อเนื่อง บริษัทของอิน ร่วมกับบริษัทสายการบินต่าง ๆ เปิดตัวบริการที่ช่วยให้ผู้โดยสารสามารถเชื่อมต่อ Wi-Fi ในเที่ยวบินโดยใช้โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อื่น ๆ และเพลิดเพลินกับการชมวิดีโอ ท่องเว็บ และดูการแข่งขันกีฬาแบบเรียลไทม์ด้วยความเร็วที่เทียบเคียง 4G ได้.

จีสเปซ (Geespace) วิสาหกิจเทคโนโลยีภายใต้ผู้ผลิตรถยนต์จีนแบรนด์ Geely ได้เริ่มการพัฒนาบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยี ผู้ใช้บริการสามารถโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมและรับ-ส่งข้อมูลผ่านระบบของยานพาหนะเมื่อไม่มีสัญญาณจากภาคพื้นดินได้ นอกจากนี้ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุการชนกัน ยานพาหนะสามารถใช้สัญญาณดาวเทียมเชื่อมต่อกับสัญญาณเตือนภัยฉุกเฉินตลอดจนการรายงานสถานการณ์

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ไชน่า โมบาย (China Mobile) บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีนได้เผยแพร่รายงานสมุดปกขาวที่มีการเน้นย้ำถึงการบูรณาการของอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมในวงการอุตสาหกรรมต่าง ๆ และในอีกด้านหนึ่ง อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมจะขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการกู้ภัยในภาวะฉุกเฉิน การนำทางในมหาสมุทร และการปฏิบัติการทางอากาศ อีกทั้ง จะช่วยสร้างสถานการณ์การใช้งานใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงการดำเนินงานทางทะเลแบบไร้คนขับและทางอุตสาหกรรม

ในการนำอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคจำนวนมาก การเชื่อมต่อโดยตรงระหว่างโทรศัพท์มือถือและดาวเทียมถือเป็นสิ่งสำคัญ ในปี 2566 ไชน่า เทเลคอมเป็นผู้บุกเบิกการเปิดตัวบริการดาวเทียมสำหรับโทรศัพท์มือถือโดยตรง แบรนด์สมาร์ทโฟนในประเทศ เช่น Huawei, Honor และ OPPO ได้เปิดตัวโทรศัพท์รุ่นใหม่พร้อมคุณสมบัติการโทรผ่านดาวเทียม

อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของจีนยังได้ขยายการเข้าถึงไปยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย ในเดือนมิถุนายน GalaxySpace บริษัทเอกชนของจีนและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครของประเทศไทยได้จัดงานสัมมนาที่กรุงเทพฯ โดยสาธิตการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมแบบเรียลไทม์ ในงานนี้ ผู้สูงอายุในศูนย์ดูแลซึ่งอยู่ห่างออกไป 160 กม. ได้สนทนากับผู้เข้าร่วมสัมมนาผ่านวิดีโอคอลโดยใช้อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม สิ่งนี้เน้นย้ำให้เห็นถึงความสามารถในการสนับสนุนที่แข็งแกร่งของอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมในสถานการณ์การแพทย์ทางไกล

รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมอย่างแข็งขันมาตั้งแต่ปี 2563 โดยบูรณาการเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนาระดับชาติ โดยภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ได้ออกนโยบายเพื่อบ่มเลี้ยงภาคส่วนที่กำลังเติบโตนี้

ในปี 2562 อีลอน มัสก์ (Elon Musk) และสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เป็นหัวหอกในการสร้างบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมความเร็วสูง องค์กรเอกชนของจีนจำนวนมาก รวมถึงผู้ผลิตดาวเทียมและจรวด ได้ลงทุนในอุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจังตั้งแต่นั้นมา คนในวงการอุตสาหกรรมฯ คาดการณ์ว่า ภายในปี 2568 ขนาดตลาดอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของจีนจะสูงถึง 44.7 พันล้านหยวน (ประมาณ 223.5 พันล้านบาท)

หลิว ทุน นักวิเคราะห์อาวุโสของสถาบันภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศกล่าวว่า การมีส่วนร่วมของภาคเอกชน “ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศในด้านนวัตกรรมที่เป็นอิสระในอุตสาหกรรมอีกด้วย”