สัปดาห์แลกเปลี่ยนการศึกษาจีน-อาเซียน 2024: จีน-ไทยลงนามความร่วมมือเพื่อบ่มเพาะบุคคลากรและพัฒนานวัตกรรมทางอุตสาหกรรม
การประชุมในหัวข้อ “การสัมมนาระหว่างผู้บริหารการศึกษาจีนและไทย-นวัตกรรมทางอุตสาหกรรมและการบ่มเพาะบุคลากร” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประชุมภายในหอประชุมการแลกเปลี่ยนการศึกษาจีน-อาเซียน เมืองกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เป็นหนึ่งในหลายการประชุมที่จัดขึ้นภายใต้สัปดาห์แลกเปลี่ยนการศึกษาจีน-อาเซียน 2024
การประชุมในหัวข้อดังกล่าวจัดขึ้นโดยเจ้าภาพร่วมระหว่างทางไทยและจีน ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), สมาคมแลกเปลี่ยนการศึกษานานาชาติฉงชิ่ง, สมาคมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศแห่งเอเชีย, สมาคมสมาพันธ์การศึกษาไทย – จีน, สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย, สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย โดยมีมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาจากทั่วประเทศจีนกว่า 25 แห่ง และของไทยกว่า 15 แห่งเข้าร่วมประชุม
ผู้เข้าร่วมประชุมถ่ายรูปรวมหน้าหอประชุมการแลกเปลี่ยนการศึกษาจีน-อาเซียน ณ เมืองกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว ทาง
ตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 (เอื้อเฟื้อภาพจาก อว.)
การประชุมในหัวข้อ “การสัมมนาระหว่างผู้บริหารการศึกษาจีนและไทย-นวัตกรรมทางอุตสาหกรรมและการบ่มเพาะ
บุคลากร” ณ ห้องประชุมภายในหอประชุมการแลกเปลี่ยนการศึกษาจีน-อาเซียน ณ เมืองกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว
ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 (เอื้อเฟื้อภาพจาก อว.)
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในที่ประชุมว่า ขณะนี้ ประเทศไทยต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร เพื่อเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งต้องการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงและแนวโน้มนี้จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในอนาคต เช่น แรงงานในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) กระทรวง อว. ตระหนักถึงประเด็นนี้ ดังนั้น จึงมีนโยบายมุ่งสร้างและพัฒนากำลังแรงงานที่มีทักษะสูง เพื่อดึงดูดการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมของภูมิภาค โดยเฉพาะเรื่องของการผลิตและพัฒนากำลังแรงงานที่มีทักษะสูง
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนัก
งานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (เอื้อเฟื้อภาพจาก อว.)
กระทรวง อว. มีนโยบายต้นแบบเกี่ยวกับด้านเซมิคอนดักเตอร์ ด้าน EV และ AI โดยการจัดตั้งกำลังแรงงานในทุกระดับ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างกำลังแรงงาน จำนวน 80,000 คนในด้านเซมิคอนดักเตอร์, 150,000 คนในด้าน EV และ 50,000 คนในด้าน AI ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยกระทรวง อว.จะทำหน้าที่เป็นศูนย์สนับสนุนรวมถึงการพัฒนาหลักสูตรเพื่อ Upskill/ Reskill ซึ่งจะเป็นการพัฒนากำลังแรงงานที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยไม่มีข้อจำกัดจากมาตรฐานการจัดการการศึกษาปัจจุบัน
ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม คณะทำงานยกระดับคุณภาพการศึกษาในระดับสากล กล่าวถึงโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยของไทย ที่จัดแบ่งกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาออกเป็น 5 กลุ่ม ว่า แบ่งกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา เพื่อนำไปสู่การปฏิรูประบบการบริหาร ปรับเปลี่ยนหลักสูตรและการเรียนการสอนให้ทันสมัย สร้างจุดต่างตามความถนัด และมีความหลากหลายตามพันธกิจและความเชี่ยวชาญ ภายใต้กลไก 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ 1) การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน 2) การพัฒนาและแสวงหาบุคลากร 3) ความเป็นนานาชาติ 4) การบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม 5) การสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือ เพื่อรองรับกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับประเทศและระดับโลกได้
ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม (เอื้อเฟื้อภาพจาก อว.)
ขณะที่ รศ.จีรนุช เสงี่ยมศักดิ์ ประธานคณะทำงานด้านการจัดทำหลักสูตรด้านเซมิคอนดักเตอร์ กล่าวถึงสถานการณ์การมีงานทำของกำลังแรงงานไทยในปัจจุบัน ว่า จากผลสำรวจ พบว่ามีเพียงร้อยละ 18 ที่ทำงานตรงกับทักษะและความต้องการของตนเอง และร้อยละ 41 ของกำลังแรงงานไทยขาดทักษะที่ช่วยให้เข้าสู่งานที่มีรายได้สูงขึ้น ซึ่งถือเป็นความเร่งด่วนของสถาบันอุดมศึกษาที่จะต้องปรับตัวและจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะให้แก่กำลังแรงงาน ตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและประเทศ โดยเฉพาะในด้านอีคอมเมิร์ชและอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ โดยทักษะสำคัญที่จะเป็นต้องเร่งพัฒนา คือ ทักษะด้านดิจิทัลและทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ โดยในการร่วมงานสัปดาห์แลกเปลี่ยนการศึกษาจีน-อาเซียน ปี 2024 มีสถาบันอุดมศึกษาไทย 5 แห่งนำร่องลงนามความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาของจีน ถือเป็นการเปิดประตูสู่ความร่วมมือระดับนานาชาติ
หลี่ ซื่อยี่ว์ เลขาธิการสมาคมแลกเปลี่ยนการศึกษานานาชาติฉงชิ่ง (เอื้อเฟื้อภาพจาก อว.)
หลี่ ซื่อยี่ว์ เลขาธิการสมาคมแลกเปลี่ยนการศึกษานานาชาติฉงชิ่ง เข้าร่วมการประชุมและกล่าวสุนทรพจน์ในนามของผู้จัดงานชาวจีนว่า การจัดเวทีนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างเวทีสำหรับมหาวิทยาลัยในจีนและไทย หอการค้า สมาคมต่าง ๆ รัฐวิสาหกิจ ฯลฯ เพื่อรวบรวมทรัพยากร หารือความร่วมมือ และแสวงหาการพัฒนา ซึ่งเป็นเวทีที่ดีในการส่งเสริมผลลัพธ์แบบ win-win และหวังว่ามหาวิทยาลัย หอการค้า และสมาคมจากทั้งสองฝ่ายจะยังคงเสริมสร้างความเข้าใจ ส่งเสริมมิตรภาพซึ่งกันและกัน การเรียนรู้ ขยายความร่วมมือ และตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้าที่เป็นมิตร ความต้องการนวัตกรรมอุตสาหกรรม และการศึกษาระหว่างจีนและไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมภูมิปัญญาและพลังของการศึกษาสู่วันครบรอบการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและไทย 50 ปีในปี พ.ศ. 2568 และการสร้างประชาคมจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกัน
โจว ถง ผู้อำนวยการสำนักงานแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศ วิทยาลัยอาชีวศึกษาและเทคนิควิศวกรรมฉงชิ่งกล่าวในที่ประชุมว่า ในปี ค.ศ.2024 วิทยาลัยฯ ได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือไตรภาคีกับวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออกของประเทศไทย และบริษัท บีวายดี จำกัด เพื่อก่อตั้งสถาบันอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่แห่งประเทศไทยในไทย เพื่อร่วมกันปลูกฝังนักศึกษาที่มีคุณภาพในอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ โดยอาศัยวิทยาลัยอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่จีน-ไทย การฝึกอบรมร่วมกันสำหรับผู้มีความสามารถด้านเทคนิคและดำเนินการเกี่ยวกับการสร้างกลุ่มวิชาชีพ การสร้างหลักสูตรร่วมกัน การแบ่งปันทรัพยากรการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติ การเยี่ยมเยียนร่วมกันระหว่างครูและนักเรียน การร่วมฝึกอบรม และการยอมรับการรับรองบุคลากรด้านเทคนิคร่วมกัน
ในปี ค.ศ.2018 ภายใต้การแนะนำของคณะกรรมการอาชีวศึกษาไทยและคณะกรรมการการศึกษาเทศบาลฉงชิ่ง วิทยาลัยอาชีวศึกษา และเทคนิควิศวกรรมฉงชิ่งเป็นผู้นำในการก่อตั้งพันธมิตรอาชีวศึกษาจีน-ไทย โดยมีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมรวม 37 แห่ง ในปัจจุบันมี 135 แห่ง ในฐานะก้าวสำคัญในความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาระหว่างทั้งสองประเทศ พันธมิตรอาชีวศึกษาจีน-ไทยทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มในการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างประชาชนจีนและไทยผ่านการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา และได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ในฐานะประธานหน่วยจีนของพันธมิตรวิทยาลัยอาชีวศึกษาและเทคนิคฉงชิ่งจะยังคงส่งเสริมการก่อสร้างวิทยาลัยอุตสาหกรรมในต่างประเทศต่อไป และสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับการบูรณาการอุตสาหกรรมและการศึกษา
ในอนาคต พันธมิตรอาชีวศึกษาจีน-ไทยจะใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกิดใหม่ของทั้งสองประเทศเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างวิทยาลัยอุตสาหกรรมในต่างประเทศ 10 แห่ง ขยายขอบเขตการฝึกอบรมร่วมกัน ขยายเส้นทางการฝึกอบรมผู้มีความสามารถ สร้างวิทยาลัยอุตสาหกรรมหลายแห่งในระดับสากล มาตรฐานหลักสูตรและทรัพยากรที่มีอิทธิพล และบูรณาการเข้ากับระบบการศึกษาระดับชาติของประเทศไทย เพื่อให้การสนับสนุนผู้มีความสามารถที่แข็งแกร่งสำหรับองค์กรที่ได้รับทุนสนับสนุนจากจีนในการ “ก้าวไปสู่ระดับโลก” นอกจากนี้ พันธมิตรยังได้ดำเนินการต่าง ๆ เช่น “การร่วมสร้างและแบ่งปันทรัพยากร” “การพัฒนาและการฝึกอบรมการแข่งขัน” “การฝึกอบรมผู้มีความสามารถร่วมกัน” และ “การส่งเสริมแบรนด์” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาจีน-ไทยและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างจีน-ไทย ปลูกฝังให้มีความสามารถทางเทคนิค และให้บริการที่มีบทบาทเชิงบวกต่อการสร้าง “ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”
จาง ซิน รองเลขาธิการสมาคมแลกเปลี่ยนการศึกษานานาชาติประจำนครฉงชิ่ง (พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์)
จาง ซิน รองเลขาธิการสมาคมแลกเปลี่ยนการศึกษานานาชาติประจำนครฉงชิ่ง ให้สัมภาษณ์กับพีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์ว่า “เราให้ความสำคัญต่อการประชุมครั้งนี้มาก ประเด็นในการประชุมปีนี้เราเน้น 2 เรื่อง คือ รถยนต์พลังงานไฟฟ้าของจีน (EV) เนื่องจากจีนและไทยมีความร่วมมือที่ดีในเรื่องรถยนต์ EV ดังนั้น จึงต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการฝึกอบรมบุคลากร และเรื่องที่สองคือการค้าระหว่างประเทศ โดยจะเน้นเรื่องการฝึกอบรมเพื่อศึกษาด้านเศรษฐกิจที่แท้จริง เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความสามารถของทั้งสองประเทศ สุดท้าย เราหวังว่าจะสามารถจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมของจีนในประเทศไทย และหวังว่าทางไทยจะสร้างศูนย์ฝึกอบรมในประเทศจีนด้วย”
การลงนามข้อตกลงร่วมกันในการประชุม “การสัมมนาระหว่างผู้บริหารการศึกษาจีนและไทย-นวัตกรรมทางอุตสาหกรรม
และการบ่มเพาะบุคลากร” (เอื้อเฟื้อภาพจาก อว.)