ส่องการประชุมในสัปดาห์แลกเปลี่ยนการศึกษาจีน-อาเซียน 2024 ที่กุ้ยโจว: การบูรณาการทางอุตสาหกรรมกับการศึกษาระหว่างจีนและภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขง
การประชุม “การแสดงผลงานและการแลกเปลี่ยนด้านการบูรณาการทางอุตสาหกรรมกับการศึกษาระหว่างจีนและภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขง” เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 จัดขึ้นภายใต้สัปดาห์แลกเปลี่ยนการศึกษาจีน-อาเซียน 2024 ที่เขตใหม่กุ้ยอัน เมืองกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
ในงานมีผู้แทนจากรัฐบาล หอการค้า สถาบันการศึกษา องค์กรพันธมิตร และบริษัทเอกชนจากจีน ลาว กัมพูชา ไทย เมียนมา และประเทศอื่น ๆ เข้าร่วมการประชุมในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยมีสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว สำนักงานนครฉงชิ่ง (LNCCI) และมหาวิทยาลัยเปิดกุ้ยโจวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการศึกษาและการฝึกอบรมจีน ล้านช้าง-แม่โขง (LCETPA), วิทยาลัยเทคนิคและวิศวกรรมสารสนเทศกุ้ยโจว, สมาคมอาชีวศึกษามณฑลกุ้ยโจว, บริษัทกลุ่มอุตสาหกรรมการบินพลเรือนกุ้ยโจว, สมาคมการศึกษาอุตสาหกรรมการบินกุ้ยโจว, วิทยาลัยอาชีวศึกษาอู่ฮั่น, บริษัทบริการการศึกษาและอุตสาหกรรมล้านช้าง-แม่โขง (ฉงชิ่ง) และบริษัทเอเชียอินโฟ อาเซียน บิสสิเนส ฉงชิ่ง ร่วมจัดการประชุม
หยาง เทียนหอี รองผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษามณฑลกุ้ยโจว กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุมว่า เราควรใช้การบูรณาการของอุตสาหกรรมและการศึกษาเป็นตัวเชื่อมเพื่อความร่วมมือ และมีเป้าหมายคือการมีความสำเร็จร่วมกันแบบวิน-วิน, สร้างกลไกความร่วมมือข้ามพรมแดน ข้ามภูมิภาค และข้ามวัฒนธรรมระหว่างจีนและอาเซียน, รวบรวมทรัพยากรและข้อได้เปรียบจากทุกฝ่าย, ส่งเสริมการรวมอุตสาหกรรมและการศึกษา การแบ่งปันทรัพยากร การถ่ายโอนเทคโนโลยี และการรวมบริการ, สร้างชุมชนเพื่อรวมตัวทางอุตสาหกรรมการศึกษาในระดับสากล และส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาทางวิชาชีพและเทคนิคอย่างมีคุณภาพในประเทศต่าง ๆ
ดาววอน พาจันทะวง รองประธาน หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว (LNCCI) ได้กล่าวสุนทรพจน์สรุปในที่ประชุมส่วนหนึ่งใจความว่า การประชุมสัมมนาครั้งนี้ได้สร้างฉันทามติที่สำคัญและมีคุณค่าเกี่ยวกับอาชีวศึกษา มีการดำเนินโครงการบูรณาการอุตสาหกรรมและการศึกษาที่มีแนวโน้มและนำไปใช้ได้จริง ทำให้มั่นใจในการบูรณาการทางอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาคกับการศึกษาอย่างมั่นคงยิ่งขึ้นและชัดเจนยิ่งขึ้น
ในอนาคต ภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขงจะยังคงสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งในข้อได้เปรียบของ “ความร่วมมือแบบเปิดและความร่วมมือแบบวิน-วิน” ตลอดจนสำรวจเส้นทางใหม่ๆ สำหรับการบูรณาการอุตสาหกรรมและการศึกษาในการพัฒนาระหว่างประเทศ และปลูกฝังความสามารถด้านอาชีวะและทักษะคุณภาพสูงระดับนานาชาติ รวมทั้งสร้างสถานการณ์ใหม่สำหรับการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและความร่วมมือระหว่างจีนและอาเซียนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ 5 โครงการระหว่างมหาวิทยาลัยเปิดกุ้ยโจว, วิทยาลัยเทคนิคและวิศวกรรมสารสนเทศกุ้ยโจว, วิทยาลัยเทคนิคเมืองอู่ฮั่น, บริษัทบีวายดี ออโต, วิทยาลัยเทคโนโลยีกว่างซี และวิทยาลัยเทคโนโลยีเครื่องจักรและไฟฟ้าเซี่ยงไฮ้ ลงนามกับกลุ่มรถไฟแห่งชาติลาว, สายการบินลาว, สถาบันพัฒนาการอาชีวศึกษาลาว, สถาบันอุตสาหกรรมและการค้าลาว และ LCETPA
อัลลัน หยาง รองประธานสภาธุรกิจลาว-จีน (Laos China Business Cooperation Council หรือ LCBCC) และผู้อำนวยการหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว (Lao National Chamber of Commerce and Industry หรือ LNCCI)สำนักงานประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวให้สัมภาษณ์กับพีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์ว่า การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นที่การแลกเปลี่ยนและการแสดงความสำเร็จจากการบูรณาการอุตสาหกรรมและการศึกษาในจีนและภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขงเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรามีสำนักงานใหญ่ของสมาพันธ์การศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในประเทศไทย ดังนั้น ในการประชุมครั้งนี้เรามุ่งเน้นไปที่ห้าประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง คือ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมา ซึ่งมีความร่วมมือกับหน่วยงานของจีน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราได้ทำงานมากมายเกี่ยวกับการบูรณาการอุตสาหกรรมและการศึกษา ดังนั้น จึงมีความสำเร็จมากมายที่จะแสดง รวมถึงเวิร์กชอปหลู่ปัน วิทยาลัยเส้นทางสายไหมในต่างประเทศ วิทยาลัยอาชีวศึกษา และโรงพยาบาลในประเทศไทย
เมื่อกล่าวถึงเป้าหมายจากความร่วมมือนี้ อัลลันกล่าวว่า การพัฒนาความร่วมมือนี้สามารถนำไปใช้ตอบสนองต่อวงการอุตสาหกรรม เพื่อให้วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในจีนสามารถสร้างวิทยาลัยในต่างประเทศและสร้างมาตรฐานวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพได้ ในแง่ของการดำเนินการ มีเพียงมาตรฐานวิชาชีพและการจัดตั้งวิทยาลัยและอุตสาหกรรมในต่างประเทศเท่านั้นที่เราสามารถให้บริการฝึกอบรมทางเทคนิคให้เแก่คนในท้องถิ่นได้อย่างแท้จริงเพื่อให้พวกเขาสามารถหางานทำได้ดีขึ้น
อัลลันยังเผยว่า “พันธมิตรการศึกษาในภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขงจะจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมและตรวจสอบคุณภาพยานยนต์พลังงานใหม่ใน สปป.ลาว ภายในปีนี้ เนื่องจากมีรถยนต์พลังงานใหม่จำหน่ายจำนวนมากในประเทศไทยและลาว แต่ยังขาดการบำรุงรักษาและการบริการ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เราต้องเร่งทำให้ทันท่วงที และดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน โดยจะผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั่วประเทศจีน และขยายไปในด้านต่าง ๆ เช่น อีคอมเมิร์ซ ลอจิสติกส์ ปัญญาประดิษฐ์ และบิ๊กดาต้า เป็นต้น เรายินดีต้อนรับผู้เชี่ยวชาญและสถาบันการศึกษาจากประเทศไทยที่จะให้คำแนะนำแก่เรา และเราก็จะหาโอกาสไปเยี่ยมชม”