ส่องการประชุมในสัปดาห์แลกเปลี่ยนการศึกษาจีน-อาเซียน 2024 ที่กุ้ยโจว ไทยเสนอ 3 กลยุทธ์พัฒนาการศึกษา
สัปดาห์แลกเปลี่ยนการศึกษาจีน-อาเซียน 2024 (China-ASEAN Education Cooperation Week) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 ถึง 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่เขตใหม่กุ้ยอัน เมืองกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยมีกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ และรัฐบาลประจำมณฑลกุ้ยโจวเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน
ภายในงานครั้งนี้ มีการจัดประชุมและกิจกรรมด้านความร่วมมือทางการศึกษามากกว่า 70 กิจกรรม/ประชุม หนึ่งในนั้นคือการประชุมของสถาบันอุดมศึกษาในจีนและอาเซียนจำนวนนับพันแห่งเข้าร่วมสัมมนานำเสนอแนวคิดในการพัฒนาการศึกษาและแบ่งปันประสบการณ์ของตนภายใต้ชื่อหัวข้อประชุม "China-ASEAN Thousand Schools Hands Together Conference" เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ในที่ประชุม นางสาวพสุภา ชินวรโสภาค อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง กล่าวถึง 3 กลยุทธ์พัฒนาการศึกษาภายใต้มุมมองด้านการศึกษาที่ว่า “ความร่วมมือคุณภาพสูงนำสู่การพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพสูง” สิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ที่จะนำสู่การสร้างกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพใหม่ ได้แก่ การศึกษา เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ การปลูกฝังทาเลนต์ (ผู้มีความสามารถ)
นางสาวพสุภา ชินวรโสภาค อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมประจำสถาน
เอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง (พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์)
3 กลยุทธ์หลักในการพัฒนาการศึกษาที่นางสาวพสุภาได้กล่าวเสนอและแบ่งปัน ได้แก่ 1) การศึกษาคุณภาพสูง เน้นเรื่องการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่จะช่วยให้ผู้เรียนเติบโตและพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ระบบการศึกษาในอนาคตจะต้องนำเสนอการฝึกอบรมอย่างมีคุณภาพสูงเพื่อรับรองว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานและมีส่วนร่วมในการศึกษาตลอดชีวิต โดยได้เสนอโครงการ “การปรับปรุงทักษะ การเพิ่มทักษะและการสร้างทักษะใหม่” (re-skills, up-skills, new skills) เพื่อพัฒนาแรงงานให้ผู้เรียนได้มีทักษะที่หลากหลายและมีโอกาสในการมีอาชีพที่หลากหลาย มีความสามารถปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของเศรษฐกิจสังคมโลก โดยเฉพาะทักษะด้านการสื่อสาร ด้านดิจิตัลและการเรียนรู้ 2) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) โดยเน้นถึงความสำคัญของ “เยาวชน” เพราะเป็นอนาคตของมนุษยชาติและอนาคตของ วทน. การเสริมสร้างพลังให้แก่วัยรุ่นในด้านดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งเป็นการเตรียมพร้อมตอบสนองต่ออาชีพใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 3) การปลูกฝังทาเลนต์ หรือผู้มีความสามารถ ท่ามกลางการเติบโตอย่างไร้ขอบเขต การปลูกฝังทาเลนต์จะเชื่อมโยงกับการเคลื่อนย้ายของพวกเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากเห็น โดยเฉพาะในด้านการศึกษาะดับที่สูงขึ้น
ในส่วนความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างจีนและไทย นางสาวพสุภากล่าวว่า จำนวนนักเรียนต่างประเทศที่ศึกษาในไทยมากเป็นอันดับหนึ่งมาจากประเทศจีน และมีอาสาสมัครชาวจีนเดินทางไปสอนภาษาจีนในทุกภาคของประเทศไทย อีกทั้ง นักเรียนไทยก็เป็นหนึ่งในจำนวนนักเรียนต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่มาเรียนในประเทศจีน ทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือในการให้ทุนการศึกษาระหว่างกัน มีการจัดตั้งเวิร์กชอปหลู่ปัน และการจ้างงานระหว่างชาวไทยและชาวจีนจำนวนมาก รวมถึงความร่วมมือในระดับอาชีวะในหลากหลายสาขา เช่น การบิน รถไฟความเร็วสูง ปัญญาประดิษฐ์และการจัดการลอจิสติกส์
นางสาวพสุภาแสดงความเห็นว่า การศึกษาเป็นสิ่งที่มีพลังที่จะช่วยเสริมสร้างคุณค่าของตนเอง เพิ่มโอกาสและสร้างความคิดเห็นใหม่ ๆ การศึกษาเป็นกุญแจสู่อนาคตที่สดใสกว่า การศึกษาเป็นหนึ่งในวิธีการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนและเป็นกระบวนการสำคัญของการพัฒนาทั่วไป และเป็นแหล่งพลังของอุตสาหกรรมซึ่งจะเสริมสร้างและกระชับมิตรภาพระหว่างจีนและไทยให้เดินหน้าต่อไปอย่างยาวไกลในอนาคต ในปีหน้า เราจะฉลองครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีน-ไทย ความร่วมมือทางการศึกษาจะเป็นหนึ่งในไมล์สโตนแห่งความสำเร็จหลายด้านที่สร้างความผูกพันและสะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของสองประเทศ
นางสาวพสุภาหวังว่า ในทศวรรษที่จะมาถึง ไทย จีนและอาเซียนยังมีความร่วมมือทางการศึกษาอีกมาก ซึ่งความร่วมมือฉากใหม่ในอนาคตสามารถเป็นความร่วมมือทางการศึกษาคุณภาพสูงที่มีความก้าวหน้าที่กว้างขวาง ลงลึกและหลากหลายสาขามากขึ้น
ที่ประชุม “China-ASEAN Thousand Schools Hands Together Conference” เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567
ณ หอประชุมถาวรของสัปดาห์แลกเปลี่ยนการศึกษาจีน-อาเซียน เมืองกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว (พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์)