สัมภาษณ์พิเศษ: นายฉัตรชัย วิริยะเวชกุล เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน

(People's Daily Online)วันศุกร์ 30 สิงหาคม 2024

วันที่ 12 สิงหาคม พิธีเปิดงาน “สัปดาห์จีน-อาเซียน 2024” จัดขึ้นที่เมืองฉางจื้อ มณฑลซานซี โดยนายฉัตรชัย วิริยะเวชกุล เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศจีน ได้ให้สัมภาษณ์กับพีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์ ดังต่อไปนี้

ถาม: หัวข้อหลักของงาน “สัปดาห์อาเซียน-จีน 2024” ในปีนี้ คือการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรต่อการจัดงานที่เมืองฉางจื้อ มณฑลซานซี ในครั้งนี้ และ ขอทราบมุมมองต่อการพัฒนาด้านการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชนจีนกับอาเซียน

ตอบ: ผมประทับใจมาก การจัดงานสัปดาห์อาเซียน-จีนทำได้อย่างเป็นระบบ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของผู้ว่าฯ มณฑลชานซีและผู้บริหารเมืองฉางจื้อ ที่ทำให้งานระดับนานาชาติครั้งนี้ประสบความสำเร็จ และยังเป็นโอกาสอันดีในการแสดงให้เห็นถึงความสวยงามและศักยภาพของเมือง ผมมองว่าความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนกำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เพราะจีนกับประเทศในอาเซียนสามารถร่วมมือกันได้ในหลายสาขาทั้งด้านการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวจีนเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติอันดับต้นของไทย ซึ่งน่าจะเป็นเช่นเดียวกันในหลายประเทศ

ถาม: สำหรับประเทศไทย คุณมองว่าอะไรคือความสําเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนจีน-ไทย

ตอบ: ก. “จีน-ไทย ใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ประโยคดังกล่าวเน้นย้ำความสัมพันธ์ไทย-จีนที่แน่นแฟ้นในหลายระดับ โดยความสําเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือการที่รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายตัดสินใจลงนามความตกลงยกเว้น การตรวจลงตราฯ (วีซ่า) เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไว้วางใจและความเชื่อมั่นของรัฐบาลทั้งสองประเทศที่อนุญาตให้ประชาชนสองฝ่ายเดินทางไปยังดินแดนของกันและกันได้โดยไม่ต้องผ่านการคัดกรองล่วงหน้า หวังว่าความตกลงยกเว้นวีซ่าระหว่างกันนี้ จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนอย่างน้อย 8 ล้านคนเดินทางมาไทยภายในสิ้นปี ขณะเดียวกัน คาดหวังให้นักท่องเที่ยวไทยเดินทางมาจีนเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ล้านคน

ข. สถานเอกอัครราชทูตฯ อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเพิ่มเที่ยวบินตรงจากจีนไปยังเมืองต่าง ๆ ในไทยเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจชาวไทยให้มาจีนมากขึ้น รวมถึงมณฑลซานซี ซึ่งมีศักยภาพสูงในด้านการผลิตและเทคโนโลยีชั้นสูง พร้อมสถานที่ท่องเที่ยวจำนวนมาก

ค. ความสำเร็จอีกประการหนึ่งคือ ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างคนรุ่นใหม่ ผ่านความร่วมมือด้านการศึกษา การให้ทุนการศึกษากับนักเรียนไทยจำนวนมาก คนรุ่นใหม่กลุ่มนี้จะเป็นรากฐานสำคัญในการส่งเสริมให้มิตรภาพใกล้ชิดยิ่งขึ้นในอนาคต

ง. เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและจีนในปีหน้า สถานเอกอัครราชทูตฯ จะร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อดำเนินกิจกรรมฉลองครอบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ฯ และมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับมณฑลซานซีเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสสําคัญดังกล่าว

ถาม: ท่านคิดว่าอะไรน่าจะเป็นคุณลักษณะของ “หนทางสู่ความทันสมัยแบบจีน” และ ค่านิยมร่วมสมัยและมุมมองอะไรที่ควรมี

ตอบ: แต่ละประเทศมีเส้นทางสู่ความทันสมัยของตัวเอง ขึ้นอยู่กับประวัติศาสตร์และลักษณะของประเทศนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสรุปความหมายของเส้นทางสู่ความทันสมัยของจีน อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าสาระสำคัญอย่างหนึ่งคือ ควรให้ความสำคัญกับประชาชน ว่าจะสร้างความกินดีอยู่ดีและความมั่งคั่งให้กับประชาชนได้อย่างไร ไม่ใช่เพียงชุมชนเดียวหรือสังคมโดยรวมเท่านั้น แต่เป็นดั่งเช่นที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เคยกล่าวไว้ว่า “ร่วมสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ” ตามเส้นทางการพัฒนาดังกล่าว ประกอบด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทําให้จีนรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกได้ เมื่อจีนมีสุขภาพดี โลกก็มีสุขภาพดีด้วย

เรายังต้องการให้ไทยและประเทศต่าง ๆ ในโลกได้รับประโยชน์จากเส้นทางสู่ความทันสมัยของจีน จึงเป็นเหตุผลว่า “ข้อริเริ่มการพัฒนาระดับโลก (GDI)” “ข้อริเริ่มความมั่นคงระดับโลก (GSI)” และ “ข้อริเริ่มอารยธรรมระดับโลก (GCI)” เป็นที่ยอมรับว่าสามารถสร้างประชาคมโลกให้เป็นที่ที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน

ไทยหวังจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของจีนในการลดช่องว่างทางดิจิทัลเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ครอบคลุมในทุกด้านได้อย่างเข้มแข็ง และหวังจะอยู่ในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกกับจีนได้อย่างแข็งแรง พึ่งพิงและทำประโยชน์จากการมุ่งสู่ความทันสมัยของจีน