บทวิเคราะห์: ความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า “ทฤษฎีกำลังการผลิตล้นเกินของจีน” คืออะไร?

(CRI)วันอังคาร 10 กันยายน 2024

เมื่อเร็วๆ นี้ นักการเมืองบางคนและสื่อมวลชนบางแห่งของชาติตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกาได้ประโคมข่าวสิ่งที่เรียกว่า “ทฤษฎีกำลังการผลิตล้นเกินของจีน” อีกครั้ง ทั้งยังพยายามขยายขอบเขตการโจมตีจากอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ของจีนไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆมากขึ้น และใส่ร้ายป้ายสีจีนว่า “กำลังการผลิตที่ล้นเกินของจีนส่งผลกระทบร้ายแรงต่อตลาดโลก” แต่ความจริงคืออะไรกันแน่?

ตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ข้อได้เปรียบและการแบ่งงานระหว่างประเทศได้ค่อยๆ กลายเป็นพื้นฐานของการค้าระหว่างประเทศสมัยใหม่ และในทางปฏิบัติยังมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อนโยบายและข้อเสนอของรัฐบาลต่างๆอย่างต่อเนื่อง กระตุ้นให้ประเทศและวิสาหกิจจำนวนมากยิ่งขึ้นเข้าร่วมในการแบ่งงานอุตสาหกรรมระดับโลกและการค้าข้ามพรมแดน

หากมองในแง่วัฏจักรการพัฒนาอุตสาหกรรม อุปทานส่วนเกินที่เกิดขึ้นชั่วคราวในอุตสาหกรรมเกิดใหม่นั้นไม่สามารถถือเป็นกำลังการผลิตล้นเกินได้ กำลังการผลิตล้นเกินในระดับที่เหมาะสมนั้นไม่ได้หมายความว่ามีการผลิตมากเกินไปแล้ว และก็ไม่ได้หมายถึงการทุ่มตลาด หากมองในแง่หลักเศรษฐศาสตร์การตลาด หลักการในการประเมินกำลังการผลิตส่วนเกินนั้นควรพิจารณาจากอุปสงค์โดยรวมของทั่วโลก หากมองในแง่แนวปฏิบัติทางการค้าระหว่างประเทศ การด่วนสรุปให้อุตสาหกรรมที่มีปริมาณการส่งออกมากเป็นอุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตล้นเกินนั้นขัดต่อหลักการพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ เพราะทุกประเทศต่างก็ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วมีความได้เปรียบสู่ตลาดโลก ในปี ค.ศ. 2023 รถยนต์ที่ผลิตในเยอรมันประมาณร้อยละ 80 และรถยนต์ที่ผลิตในญี่ปุ่นร้อยละ 50 จำหน่ายไปยังตลาดต่างประเทศ ในขณะที่ปัจจุบันรถยนต์พลังงานใหม่ของจีนที่จำหน่ายไปยังต่างประเทศมีเพียงประมาณร้อยละ 12.7 เท่านั้น กำลังการผลิตล้นเกินมักหมายถึงกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมสาขาใดสาขาหนึ่งที่มีมากกว่าความต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก ส่งผลให้มีอุปทานส่วนเกินอย่างเห็นได้ชัดและราคาลดลงอย่างมากด้วย

ดังนั้น หาก “ทฤษฎีกำลังการผลิตล้นเกินของจีน” เป็นจริงก็หมายความว่าไม่ว่าประเทศใดก็ตามต่างก็ไม่ควรผลิตสินค้าเกินความต้องการภายในประเทศของตน เหตุใดก่อนหน้านึ้จึงไม่มีใครกล่าวหาเยอรมนีและญี่ปุ่นว่ามีกำลังการผลิตล้นเกินในการผลิตรถยนต์เล่า?บริษัทโบอิ้งของสหรัฐอเมริกาควรลดการผลิตหรือไม่? ควรจำกัดการผลิตถั่วเหลืองของสหรัฐอเมริกาหรือไม่? แน่นอนว่ามันไม่ยุติธรรมและไม่มีเหตุผลที่จะกำหนดให้อุตสาหกรรมที่ได้เปรียบของประเทศใดประเทศหนึ่งซึ่งมีปริมาณการส่งออกมากว่าเป็นกำลังการผลิตที่มากเกินไป

มีผู้กล่าวหาว่ารัฐบาลจีนดำเนินนโยบายอุดหนุนในด้านต่างๆ เช่น รถยนต์พลังงานใหม่ แต่การอุดหนุนของจีน “ไม่เป็นไปตามกติกา” จริงหรือ? จนถึงต้นเดือนสิงหาคมปีนี้ มีคดีทั้งหมด 139 คดีภายใต้ “ความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้” ขององค์การการค้าโลก ในจำนวนนี้ สหรัฐอเมริกาถูกกล่าวหา 44 ครั้ง และสหภาพยุโรปถูกกล่าวหา 22 ครั้ง ซึ่งต่างก็มากกว่าจีนอย่างชัดเจน

จีนให้เงินอุดหนุนแก่รถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากกว่าประเทศอื่นหรือไม่? สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศเปิดเผยในรายงานการคาดการณ์ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าทั่วโลกประจำปี ค.ศ. 2024 ว่า ปัจจุบันฝรั่งเศสให้เงินอุดหนุนสูงถึง 4,000 ยูโรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาต่ำกว่า 47,000 ยูโร และครอบครัวที่มีรายได้น้อยยังสามารถได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มเติมสูงถึง 3,000 ยูโร “กฎหมายว่าด้วยการลดภาวะเงินเฟ้อ” ของสหรัฐอเมริกาใช้ประเด็นการรับมือกับภาวะเงินเฟ้อเป็นข้ออ้าง วางแผนที่จะใช้มาตรการจูงใจจำนวนมากซึ่งรวมถึงการให้เงินอุดหนุนในระดับสูง เพื่อส่งเสริมการผลิตและการประยุกต์ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีสีเขียวอื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกา เท่าที่ทราบขนาดค่าใช้จ่ายทางการคลังทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในช่วงสิบปีของโครงการนี้มีมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

น่าเสียใจที่ด้านหนึ่งสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก กล่าวหาว่าการอุดหนุนทางอุตสาหกรรมของจีนเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมด้วยการตั้งราคาที่ต่ำ ในทางกลับกันพวกเขาถือว่าการให้เงินอุดหนุนโดยรัฐบาลของตนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมคุณภาพสูง ด้านหนึ่งกล่าวหาว่าการที่สินค้าจีนได้รับความนิยมในตลาดโลกโดยพึ่งพาความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีและต้นทุนนั้นเป็นการทุ่มตลาด ในทางกลับกันความนิยมสินค้าที่ได้เปรียบของตนในตลาดต่างประเทศกลับเรียกว่าเป็นผลจากการค้าเสรี ด้านหนึ่งกล่าวว่าความยากลำบากในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกในปัจจุบันเกิดจากการขาดกําลังการผลิตพลังงานใหม่ แต่ในทางกลับกันกลับตําหนิพลังงานใหม่ของจีนว่ามี “กําลังการผลิตล้นเกิน”

นักสังเกตการณ์ชี้ให้เห็นว่า เหตุผลพื้นฐานที่สหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกพากันผสมโรง “ทฤษฎีกําลังการผลิตล้นเกินของจีน” คือ พวกเขาหวั่นวิตกการพัฒนาของ “ประเทศตลาดเกิดใหม่” ในด้านอุตสาหกรรมพลังงานใหม่และสาขาอื่น ๆ จึงพยายามที่จะยับยั้งการพัฒนาของประเทศอื่นด้วยวิธีการที่ไม่ชอบธรรม โดยมีจุดประสงค์หลักคือเพื่อสร้างบรรยากาศสําหรับการออกมาตรการจํากัดทางการค้าต่างๆ กับจีน เพื่อดำเนินลัทธิกีดกันทางการค้าด้วยข้ออ้าง “ป้องกันไม่ให้กําลังการผลิตส่วนเกินของจีนส่งผลกระทบตลาดโลก” การกระทำเช่นนี้ไม่เพียงแต่ขัดขวางความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของทั่วโลก สร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของผู้บริโภคทั่วโลก และก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกเท่านั้น แต่ยังบ่อนทําลายสถานการณ์โดยรวมของสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกอื่นๆในการเปลี่ยนผ่านสู่สีเขียวและความร่วมมือระดับโลกเกี่ยวกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย