นักวิทยาศาสตร์จีนและชาวต่างชาติเริ่มสำรวจถ้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียครั้งใหม่

(People's Daily Online)วันอังคาร 24 กันยายน 2024


สมาชิกสถาบันทรัพยากรภูเขากุ้ยโจวสำรวจการก่อตัวของหินภายในถ้ำชวงเหอในอำเภอสุยหยาง มณฑลกุ้ยโจว
ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2567 (ซินหัว)

นักวิทยาศาสตร์จากจีน ฝรั่งเศส โปรตุเกส เบลเยียม และประเทศอื่น ๆ รวมตัวกันเมื่อวันศุกร์ (20 ก.ย.) ที่ถ้ำซวงเหอ ถ้ำที่ยาวนานที่สุดในเอเชีย ในมณฑลกุ้ยโจว ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เพื่อจัดพิธีเปิดตัวการร่วมสำรวจทางวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ ครั้งที่ 23

กำหนดการสำรวจจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-24 ตุลาคม และจะประกาศผลการค้นพบในวันที่ 24 ตุลาคม

การสำรวจทางวิทยาศาสตร์ก่อนหน้านี้พบฟอสซิลแพนดายักษ์ 44 ชิ้น โดยชิ้นที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุย้อนกลับไป 100,000 ปี และชิ้นล่าสุดมีอายุไม่กี่ร้อยปี  ฟอสซิลพิสูจน์ให้เห็นว่า กุ้ยโจวเคยเป็นที่อยู่อาศัยของแพนดายักษ์ ซึ่งปัจจุบันทราบกันว่ายังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในมณฑลเสฉวน ส่านซี และกานซู่

โจว เหวินหลง รองเลขาธิการสมาคมถ้ำกุ้ยโจว กล่าวว่า การสำรวจถ้ำที่กำลังจะมีขึ้นนี้จะศึกษาทรัพยากร การก่อตัว และวิวัฒนาการของถ้ำเพิ่มเติม

จากผลการสำรวจร่วมกันในปี 2566 เครือข่ายถ้ำดังกล่าวมีช่องเปิดเชื่อมต่อกัน 107 ช่อง และมีความยาว 409.9 กิโลเมตร ทำให้เป็นถ้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียและยาวเป็นอันดับสามของโลก

ฌอง บอตตาซซี นักสำรวจถ้ำชาวฝรั่งเศส ผู้มีประสบการณ์ในการสำรวจถ้ำในประเทศจีนมากกว่า 30 ปี กำลังทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายวิจัยถ้ำที่กำลังจะมีขึ้นเร็ว ๆ นี้ เขาเรียกถ้ำซวงเหอเป็นบ้านหลังที่สองของเขา

เขากล่าวว่านับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1980 การค้นพบของผู้เชี่ยวชาญชาวจีนและชาวต่างชาติในถ้ำแห่งนี้ ได้นำไปสู่การอัพเดตความยาวของถ้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า และมีการขุดพบฟอสซิลในถ้ำและสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นวัสดุการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่อุดมสมบูรณ์และมีคุณค่า

ในระหว่างการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ในปีนี้ อำเภอสุยหยาง ซึ่งดูแลพื้นที่ถ้ำแห่งนี้ จะจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การประกวดภาพถ่ายวิทยาศาสตร์ทางธรณีวิทยา และการประกวดวิดีโอสั้นเพื่อส่งเสริมอุทยานธรณีถ้ำ