จีนเผยโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์อวกาศสำหรับปี 2567-2593

(People's Daily Online)วันพุธ 16 ตุลาคม 2024


ภาพจากวิดีโอที่ศูนย์ควบคุมทางการบินและอวกาศปักกิ่ง เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2567 เป็นภาพที่อุปกรณ์ตรวจสอบของ
ฉางเอ๋อ-6ได้ลงจอดที่ด้านไกลของดวงจันทร์ (ซินหัว)

เมื่อวันอังคาร จีนเปิดตัวโครงการพัฒนาระดับชาติด้านวิทยาศาสตร์อวกาศระยะกลางและระยะยาว ซึ่งจะเป็นแนวทางในการวางแผนภารกิจวิทยาศาสตร์อวกาศและการวิจัยอวกาศของประเทศตั้งแต่ปี 2567 ถึง 2593

โปรแกรมนี้ถือเป็นโครงการระดับชาติโครงการแรกที่ได้รับการเผยแพร่ร่วมกันโดยสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) และองค์การอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมแห่งประเทศจีน (CMSA) ในงานแถลงข่าวที่จัดขึ้นโดยสำนักงานข้อมูลข่าวสารแห่งคณะรัฐมนตรีจีน

โครงการนี้สรุปเป้าหมายการพัฒนาวิทยาศาสตร์อวกาศของจีน ซึ่งรวมถึงประเด็นสำคัญ 17 ประเด็นภายใต้หัวข้อหลักทางวิทยาศาสตร์ 5 หัวข้อ ตลอดจนแผนงาน 3 ระยะ

ติง ชื่อเปียว รองประธาน CAS กล่าวในงานแถลงข่าวว่า หัวข้อหลักทางวิทยาศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่ จักรวาลสุดขั้ว ระลอกคลื่นในอวกาศ มุมมองแบบพาโนรามาของดวงอาทิตย์-โลก ดาวเคราะห์ที่สามารถอาศัยอยู่ได้ และวิทยาศาสตร์ชีวภาพและกายภาพในอวกาศ

ตามข้อมูลจากโครงการฯ ในด้านจักรวาลสุดขั้วมุ่งเน้นที่การสำรวจต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของจักรวาล เผยให้เห็นกฎทางกายภาพภายใต้สภาวะสุดขั้วของจักรวาล พื้นที่ลำดับความสำคัญมีตั้งแต่สสารมืดและจักรวาลสุดขั้วไปจนถึงต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของจักรวาล เช่นเดียวกับการตรวจจับสสารทั่วไปของจักรวาล

ในด้านมุมมองแบบพาโนรามาของดวงอาทิตย์-โลกเกี่ยวข้องกับการสำรวจดวงอาทิตย์ โลกและสุริยะมณฑล (เฮลิโอสเฟียร์) เพื่อคลี่คลายกระบวนการทางกายภาพและกฎที่ควบคุมปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนภายในระบบดวงอาทิตย์-โลก ได้แก่ ระบบวัฏจักรของโลก การสังเกตการณ์โลก-ดวงจันทร์อย่างครอบคลุม การสังเกตสภาพอากาศในอวกาศ การสำรวจแสงอาทิตย์สามมิติ และการสำรวจเฮลิโอสเฟียร์

นักวิทยาศาสตร์ยังจะสำรวจความสามารถในการอยู่อาศัยของวัตถุท้องฟ้าในระบบสุริยะและดาวเคราะห์นอกระบบ ตลอดจนการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก ประเด็นสำคัญในหัวข้อนี้ครอบคลุมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของระบบสุริยะ ลักษณะเฉพาะของชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ การค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก และการตรวจจับดาวเคราะห์นอกระบบ

โครงการนี้ยังมีการสร้างแผนงานสำหรับการพัฒนาวิทยาศาสตร์อวกาศในประเทศจีนจนถึงปี 2593

ในระยะแรกจนถึงปี 2570 จีนจะมุ่งเน้นไปที่การดำเนินงานของสถานีอวกาศ การดำเนินโครงการสำรวจดวงจันทร์ด้วยมนุษย์ และระยะที่ 4 ของโครงการสำรวจดวงจันทร์ รวมถึงโครงการสำรวจดาวเคราะห์ด้วยดาวเทียม 5 ถึง 8 ภารกิจ จะได้รับการอนุมัติในช่วงระยะเวลาตามโครงการ

สถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติที่ริเริ่มโดยจีนจะถูกสร้างขึ้นในช่วงระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2571 ถึง 2578 และจะดำเนินการภารกิจดาวเทียมทางวิทยาศาสตร์ประมาณ 15 ภารกิจในช่วงเวลานี้

ในระยะที่ 3 ระหว่างปี 2579 ถึง 2593 จีนจะเปิดตัวภารกิจวิทยาศาสตร์อวกาศมากกว่า 30 ภารกิจ