อาสาสมัครรุ่นเยาว์หาเลี้ยงชีพด้วยการสนับสนุนผู้สูงอายุภายใต้โครงการนำร่อง “บูรณาการข้ามรุ่น”
อาสาสมัครจากบริการอาสาสมัครเฉียนไห่จวินกำลังสอนผู้สูงอายุใช้สมาร์ทโฟนในเมืองสือซี มณฑลเจ้อเจียง ทางตะวันออก
ของจีน เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2562 (ซินหัว)
อาสาสมัครรุ่นเยาว์ย้ายไปอยู่ในบ้านพักคนชรา เพื่อร่วมกลุ่มงานอดิเรกกับผู้สูงอายุ จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและกีฬาภายในสถานพยาบาล สนทนาและอ่านหนังสือพิมพ์ให้ผู้สูงอายุ และมอบความสะดวกสบายทางจิตใจให้พวกเขา ผู้สูงอายุเพลิดเพลินกับการใช้เวลากับอาสาสมัครรุ่นเยาว์ที่มีชีวิตชีวา และเยาวชนก็ต้องการที่อยู่อาศัยราคาไม่แพงเช่นกัน ความต้องการทั้งสองนี้มาบรรจบกัน ทำให้เกิดรูปแบบ “บริการที่พัก” ในการดูแลผู้สูงอายุ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมอุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุแห่งปักกิ่งได้ประกาศรับสมัครอาสาสมัครรุ่นเยาว์สำหรับโมเดลดังกล่าว สมาคมกำลังเปิดตัวโครงการนำร่องบูรณาการข้ามรุ่นในสถานดูแลผู้ป่วยในกรุงปักกิ่ง
อาสาสมัครจะต้องอาศัยอยู่ในสถานดูแลที่ได้รับมอบหมายและให้บริการอาสาสมัคร เช่น กิจกรรมทางวัฒนธรรม การบริการจับคู่ การจัดหาทรัพยากรการดูแลผู้สูงอายุ การส่งเสริมสุขภาพ และการสนับสนุนทางวิชาชีพ
อาสาสมัครจะได้รับค่าบริการขั้นต่ำ 20 ชั่วโมงต่อเดือน รวมทั้งพักอาศัยที่ศูนย์ดูแลได้โดยจ่ายค่าเช่าที่พักในราคาต่ำตั้งแต่ 300 ถึง 500 หยวนต่อคน (ราว 1,440-2,400 บาท)
ตามประกาศจ้างพนักงาน ผู้สมัครจะต้องมีอายุระหว่าง 22 ถึง 40 ปีและไม่มีที่พักอาศัยในกรุงปักกิ่ง มีวุฒิการศึกษาขั้นต่ำในระดับวิทยาลัยและมีความสนใจในการให้บริการผู้สูงอายุและงานบริการสาธารณะ ผู้สมัครจะได้รับการว่าจ้างในเมืองและเซ็นสัญญาแรงงานกับผู้ว่าจ้าง และได้รับประกันสังคมส่วนบุคคลขั้นต่ำหนึ่งปี ส่วนผู้สมัครที่มีวุฒิการศึกษในด้านงานสังคม การแพทย์ จิตวิทยาหรือสาขาที่เกี่ยวข้องจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
หลังจากผู้สมัครยื่นการสมัครแล้ว สถาบันดูแลผู้สูงอายุที่เข้าร่วมในโครงการนำร่องนี้จะเลือกและประเมินบุคคลที่ต้องการ รวมถึงมีการจัดการตรวจสุขภาพและทดสอบทางจิตวิทยาด้วย
เมื่อมีการตกลงร่วมกัน อาสาสมัครจะต้องลงนามในสัญญากับสถาบันก่อนเข้าพักอาศัย ตลอดเวลาของสัญญา สถาบันจะพยายามให้บริการอาสาสมัครหนึ่งคนต่อหนึ่งห้อง โดยจำนวนผู้พักมากที่สุดที่ 2 คนต่อห้อง
อาสาสมัคร (คนกลาง) สอนผู้สูงอายุเรื่องการป้องกันตัวจากการฉ้องโกงทางเครื่องมือสื่อสารที่ศูนย์เหม่ยหยวนในกรุง
ปักกิ่ง เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2561 (ซินหัว)
เยาวชนบางส่วนแสดงความสนใจในตำแหน่งอาสาสมัครและได้ติดต่อสถาบันดูแลผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการ
หลิว ผิง ผู้ชำนาญงานสังคมซึ่งกำลังมองหาที่พักในปักกิ่งกล่าวว่า “การให้บริการ 20 ชั่วโมงต่อเดือนเหมือนกับใช้เวลาว่างมาช่วยชดเชยค่าเช่าบ้านในปักกิ่งที่มีค่าใช้จ่ายสูง” เธอวางแผนที่จะสมัครตำแหน่งดังกล่าวเพื่อรองรับกับความต้องการการเช่าที่พักของเธอ
หลิว ผิง อธิบายว่า “อุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงอายุกำลังเจริญรุ่งเรือง ในพื้นที่ที่มีประชากรสูงอายุ ศักยภาพของ ‘เศรษฐกิจสีเงิน’ มีความสำคัญมาก เมื่อพิจารณาจากภูมิหลังทางวิชาชีพของฉัน ฉันกระตือรือร้นที่จะประกอบอาชีพด้านการดูแลผู้สูงอายุ การมีส่วนร่วมในบริการอาสาสมัครจะช่วยให้ฉันได้รับประสบการณ์อันมีค่าสำหรับอาชีพการงานในอนาคตของฉัน”
ศาสตราจารย์ลู่ เจียหัว จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งแนะนำว่า ในเมืองใหญ่ ๆ เช่น ปักกิ่ง ซึ่งมีประชากรสูงอายุจำนวนมากและมีคนหนุ่มสาวหลั่งไหลเข้ามา การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุแบบผสมผสานระหว่างรุ่นสามารถปรับปรุงการบริการและจัดการกับการสูงวัยของประชากรได้
เมืองซูโจวในมณฑลเจียงซู ทางตะวันออกของจีน เป็นหนึ่งในเมืองในประเทศจีนที่เริ่มใช้โมเดลการดูแลผู้สูงอายุแบบผสมผสานระหว่างรุ่นตั้งแต่ระยะแรก ๆ ณ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแห่งหนึ่งในเขตอู่เจียง อาสาสมัครรุ่นเยาว์เสนอบริการต่าง ๆ เช่น ความเป็นเพื่อน การศึกษา ความบันเทิง และการสนับสนุนด้านจิตใจให้แก่ผู้สูงอายุกว่า 140 คน อาสาสมัครเหล่านี้จะได้รับห้องพักอาศัยหนึ่งห้องต่อคน ด้วยค่าบริการเพียง 300 หยวนต่อเดือน (ราว 1,440 บาท)
เมืองต่าง ๆ ในจีนกำลังสำรวจรูปแบบการดูแลผู้สูงอายุแบบผสมผสานระหว่างรุ่น เช่น หางโจวในมณฑลเจ้อเจียง ทางตะวันออกของจีนสนับสนุนการก่อสร้างชุมชนที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ บ้านตลอดชีวิต และที่อยู่อาศัยของหลายช่วงวัย นครเซี่ยงไฮ้ผสมผสานบริการดูแลผู้สูงอายุและดูแลเด็กเข้ากับวงจรชีวิตของชุมชน เพื่อสร้างชุมชนที่มีชีวิตชีวาที่ซึ่งคนหนุ่มสาวและผู้สูงอายุอาศัยอยู่ร่วมกัน
ศ.ลู่ เจียหัวกล่าวว่า “ปัจจุบัน ความสำเร็จของโครงการนำร่องบูรณาการข้ามรุ่นขึ้นอยู่กับความร่วมมือของอาสาสมัคร ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ และกลไกการดำเนินงานที่มีประสิทธิผล”
ศ.ลู่ เจียหัวเชื่อว่า ควรมีความพยายามที่จะส่งเสริมการพัฒนาสถาบันการดูแลผู้สูงอายุแบบผสมผสานระหว่างรุ่น และกล่าวว่า “ตั้งแต่ระยะนำร่องไปจนถึงการดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบ กระบวนการไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากการสร้างกลไก และผลลัพธ์สุดท้ายจะต้องเป็นแบบที่ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย (วิน-วิน) ทั้งผู้สูงอายุ อาสาสมัครและสถาบันต่าง ๆ โดยสร้างความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม ในอนาคต การส่งเสริมรูปแบบการดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการระหว่างรุ่นและปรับปรุงกลไกที่เกี่ยวข้องนั้น การมองการณ์ไกลเป็นสิ่งจำเป็นในการคาดการณ์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายได้”