เสิ่นหยาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนเปิดตัว “ท่าเรือผู้เชี่ยวชาญ”

(People's Daily Online)วันศุกร์ 25 ตุลาคม 2024


(พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์)

การประชุมแลกเปลี่ยนของผู้มีความสามารถแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (เสิ่นหยาง) ปี 2567 และการประชุมพัฒนาธุรกิจยูนิคอร์นที่มีศักยภาพในประเทศจีนได้เปิดฉากขึ้นในวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ณ เมืองเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน ซึ่งในระหว่างงานนี้ได้มีการเปิดตัว “ท่าเรือผู้เชี่ยวชาญแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (เสิ่นหยาง)”

“ท่าเรือผู้เชี่ยวชาญแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (เสิ่นหยาง)” นี้ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างฝ่ายงานจัดตั้งคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเทศบาลเมืองเสิ่นหยาง สำนักทรัพยากรบุคคลและประกันสังคมประจำเมืองเสิ่นหยาง และ พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์ โดยท่าเรือแห่งนี้จะรวบรวมบริการภายใต้การนำของภาครัฐ โอกาสการจ้างงานจากภาคธุรกิจ การพัฒนาบุคลากรจากมหาวิทยาลัย การสนับสนุนทางการเงิน และการประชาสัมพันธ์ทางสื่อมวลชน เพื่อสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือสำหรับการทำงานด้านบุคลากรในมณฑลเหลียวหนิง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ


(พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์)

มีบริษัทและสถาบันกว่า 300 แห่งจากภาครัฐ ภาคเอกชน วงการวิชาการ การเงิน และสื่อ จากเมืองต่าง ๆ เช่น เสิ่นหยาง ต้าเหลียน ฉางชุน ฮาร์บิน และฮูฮอต เข้าร่วมท่าเรือผู้เชี่ยวชาญแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (เสิ่นหยาง) แห่งนี้

ท่าเรือดังกล่าวให้บริการครบวงจรสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย โดยมีบริษัทและสถาบันกว่า 300 แห่งเสนอข้อมูลตำแหน่งงานมากกว่า 200,000 ตำแหน่ง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนบุคลากรและศูนย์ทรัพยากรมนุษย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน และสนับสนุนการฟื้นฟูและการพัฒนาในภูมิภาคนี้

หวาง จื๊อกัง ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรบุคคลและประกันสังคมประจำเมืองเสิ่นหยางกล่าวว่า ท่าเรือผู้เชี่ยวชาญแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (เสิ่นหยาง) มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในเมืองเสิ่นหยาง โดยจะรวมเข้ากับกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก 10 กลุ่มของเมืองในอนาคต จะมีการดำเนินการเพื่อเพิ่มบทบาทของท่าเรือในการจัดสรรทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ในวันเดียวกันนี้ พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์ ได้เปิดตัว “ท่าเรือผู้เชี่ยวชาญแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (เสิ่นหยาง) เวอร์ชั่นคลาวด์” ที่ให้บริการเนื้อหา 5 ภาษา ได้แก่ ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี และภาษารัสเซีย