บทสัมภาษณ์ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์: ความสำคัญและบทบาทของ APEC ต่อการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันแห่งมนุษยชาติ

(People's Daily Online)วันพุธ 20 พฤศจิกายน 2024


ภาพจากผู้ให้สัมภาษณ์

การก่อตั้งความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC เริ่มขึ้นในปี 2532 จนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลา 35 ปี โดยปัจจุบันมีสมาชิกจาก 21 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วม และมีภารกิจเพื่อยกระดับการค้าเสรีเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในโอกาสที่การประชุมสุดยอดผู้นำเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC ครั้งที่ 31 ที่กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรูจัดขึ้นในวันที่ 15-16 พฤศจิกายน พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์ได้สัมภาษณ์ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ อดีตคณะทำงานผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเจรจาการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และอดีตคณะกรรมการบอร์ดของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ในเรื่องความสำคัญและบทบาทของ APEC ต่อไทย จีนและโลก และความคิดเห็นในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งในกรอบพหุภาคีและทวิภาคี รวมถึงการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันแห่งมนุษยชาติ

รศ.ดร.สมภพ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือทางเศรษฐกิจใน APEC ต่อไทย จีนและโลกว่า “ถือเป็นเวทีที่ใหญ่โตและเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่และเขตเศรษฐกิจขนาดเล็กอยู่ด้วยกันจึงมีความหลากหลายและโดยเฉพาะเรื่องจีดีพีที่ประมาณ 62 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีโลก มีการค้าร่วมกัน 50 เปอร์เซ็นต์ ของการค้าทั่วโลกรวมกัน และประชากรประมาณ 38 เปอร์เซ็นต์ มีขนาดที่ใหญ่โตมากและข้อสำคัญคือ เน้นเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างกับเวทีพหุภาคีอื่น ๆ ที่มักจะเน้นเรื่องการเมือง ความมั่นคง สังคมและสิ่งแวดล้อม APEC เป็นการรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ ไม่ได้มีพันธะผูกมัด เพราะไม่ใช่ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ฉะนั้น จึงเป็นเวทีที่คุยกันได้อย่างง่าย ๆ มีทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ”

เวที APEC ช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-ไทยและอาเซียน โดย รศ.ดร.สมภพ กล่าวว่า “ในเวทีเอเปค มีสมาชิก 6 เขตเศรษฐกิจจากอาเซียนและข้อสำคัญคือ ไทยก็เป็นหนึ่งใน 6 แห่งนี้ ซึ่งก็คงมีผลทำให้ความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น ในกรณีที่มีการค้ากับสหรัฐฯ ลดลงเนื่องจากนโยบายการค้าสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้น การค้าระหว่างจีนกับไทย การค้าระหว่างจีนกับอาเซียนก็คงจะเพิ่มขึ้น การลงทุนระหว่างจีนกับไทย และจีนกับอาเซียนก็คงจะเพิ่มขึ้นโดยได้ใช้เวทีเอเปคเพิ่มมากขึ้น โดยสองชาติที่จะได้รับประโยชน์มากขึ้นคือเม็กซิโก ในกรอบ USMCA ซึ่งก็คือการขยายผลจาก NAFTA ก็คงจะมีการลงทุนในเม็กซิโกเพิ่มขึ้นมาก และในขณะเดียวกัน การลงทุนในอาเซียนก็คงจะเพิ่มขึ้น เพื่อที่ว่าชาติหลัก ๆ จะได้หลีกเลี่ยงการถูกผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ที่จะขึ้นกำแพงภาษี อย่างจีน ผมคิดว่าจะมีการค้าการลงทุนกับอาเซียน และกับไทยมากขึ้น โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งมีปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้ชิดจีนโดยเฉพาะด้านกว่างซีและด้านยูนนาน และไทย ซึ่งจะทำได้ง่ายเพราะมีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อยู่แล้ว ฉะนั้น ความร่วมมือของอาเซียนส่วนบนกับจีนคงจะมีเพิ่มมากขึ้น”

ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง สนับสนุนการรักษาสันติภาพของโลก และส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันเพื่อส่งเสริมการสร้างประชาคมมนุษยชาติที่มีอนาคตร่วมกัน รศ.ดร.สมภพ มีความเห็นในเรื่องการสร้างประชาคมดังกล่าว โดยเฉพาะในเวที APEC โดยกล่าวว่า “ผมว่าตอนนี้เป็นโอกาสอันเหมาะยิ่งเพราะสหรัฐฯ มีการมุ่งเข้าหาตัวเองมากขึ้นโดยจะใช้วิธีการ localization มากขึ้นคือการเน้นเศรษฐกิจภายในประเทศของตัวเอง เน้นการส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศของตนเอง ส่งเสริมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้กลับบ้านเกิด เป็นต้น ฉะนั้น สหรัฐฯ คงจะมีปัญหากับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจที่จะมีการตั้งกำแพงภาษี ฉะนั้น โอกาสนี้เป็นโอกาสอันดีที่ชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศจีน จะเพิ่มกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกโดยใช้เวทีพหุภาคี ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ เช่น APEC ทางด้านสังคม ทางด้านวัฒนธรรม ทางด้านประชาชนต่อประชาชน เพราะเมื่อประเทศต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจากนโยบายของสหรัฐฯ พวกเขาก็ต้องหาทางออกเพื่อทำให้เศรษฐกิจของตนเองไม่ถูกผลกระทบ หรือโดนน้อยลง โดยหันหน้าไปร่วมมือลงทุนและค้าขายกับประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สหรัฐฯ และที่มีกำลังและศักยภาพโดยเฉพาะประเทศจีน ผมว่าเป็นโอกาสเหมาะที่จีนจะต้องใช้เวทีพหุภาคีไม่ว่าจะเป็น APEC, G20, BRICS ให้เป็นประโยชน์ให้เต็มที่ ฉะนั้นแล้วหากประเทศอื่น ๆ ยังใช้เวทีพหุภาคีอยู่และสามารถร่วมมือทางเศรษฐกิจกันได้อย่างจริงจังก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก” ถือเป็นการสร้างประชาคมมนุษย์ที่มีอนาคตร่วมกัน สามารถใช้เวทีพหุภาคีเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน

ในด้านความร่วมมือระหว่างไทย-จีนในอนาคต รศ.ดร.สมภพ คาดหวังว่าจะเห็นความร่วมมือสามด้านที่สำคัญ ประเด็นแรกคือการลงทุน การขยายการลงทุนร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีนไปลงทุนในไทยน่าจะมีการขยายตัวอย่างมากนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และในขณะเดียวกัน ไทยก็มีโอกาสไปลงทุนในจีนในแง่ของภาคต่าง ๆ ที่ไทยมีความเชี่ยวชาญเช่น เรื่องการแพทย์ เรื่องภาคบริการ ซึ่งก็จะเกิดการลงทุนร่วมกันที่ขยายตัวมากขึ้น ประเด็นที่สองคือเนื่องจากมีการลงทุนร่วมกันก็จะช่วยให้การค้าระหว่างจีนและไทยขยายตัวมากขึ้น และประเด็นที่สามคือภาคบริการ “ผมคิดว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะการท่องเที่ยว เพราะจีนคงมาเที่ยวไทยและไทยก็ไปเที่ยวจีนมากขึ้น จีนมีการทำฟรีวีซ่าอย่างกว้างขวางมากขึ้นเปิดประเทศมากขึ้น และนอกจากนี้ ยังมีความร่วมมืออื่น ๆ เช่น ธุรกิจบันเทิง ดังเช่นภาพยนตร์ไทยเรื่องหลานม่าไปฉายที่จีน และมีผู้ชมจำนวนมาก จีนก็มีธุรกิจบันเทิงขนาดใหญ่ ฉะนั้นก็อาจมีความร่วมมือทางธุรกิจบันเทิงระหว่างไทยกับจีนมากขึ้น อีกทั้งเรื่องการกีฬาในเชิงพาณิชย์ ไทยและจีนก็มีโอกาสร่วมมือกัน เช่น มวยไทย และจีนก็มีความสามารถด้านกีฬามากที่เป็นแชมป์โอลิมปิก รวมทั้งเรื่องการศึกษาที่ปัจจุบันจะมีโอกาสมากขึ้น เพราะต่อไปนี้คนจีนคงจะไปเรียนต่อที่โลกตะวันตกน้อยลง จะมีโอกาสมาเรียนต่อในประเทศแถบตะวันออกมากขึ้น โดยเฉพาะไทยน่าจะเป็นประเทศหนึ่งในอันดับต้น ๆ ที่คนจีนจะเลือกมาเรียน ซึ่งปรกติมีนักศึกษาจีนมาเรียนไทยเป็นหลายหมื่นคนอยู่แล้ว รวมทั้งไทยมีทั้งหลักสูตรต่าง ๆ และมีในหลายภาษาทั้งไทย จีน อังกฤษ อีกทั้ง ข้อสำคัญคือในขณะนี้ ไทยและจีนมุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจภาคบริการมากขึ้น (service-based economy) จะไม่เน้นด้านการผลิต (production-based economy) มาก ๆ เหมือนเดิม ฉะนั้นการที่ทั้งคู่มุ่งสู่เศรษฐกิจภาคบริการ ก็จะเพิ่มโอกาสในการร่วมมือกัน”

(บทความนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้ให้สัมภาษณ์เท่านั้น)