งานประชุมภาษาจีนโลก 2024 ที่กรุงปักกิ่ง: สถาบันขงจื่อมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม
งานประชุมภาษาจีนโลก 2024 หรือ 2024 World Chinese Language Conference จัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติจีน กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2567 โดยศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ (The center for language education in cooperation หรือ CLEC) มูลนิธิการศึกษาภาษาจีนนานาชาติแห่งประเทศจีน และสมาคมการสอนภาษาจีนสากล ในงานนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลกกว่า 2,000 คน จากกว่า 160 ประเทศซึ่งเป็นตัวแทนจากหน่วยงานราชการ องค์กรการศึกษา สถาบันการศึกษา และสถาบันขงจื่อทั่วโลก
การประชุมภาษาจีนโลกในปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “เชื่อมต่อบูรณาการ สืบสานนวัตกรรม” ประกอบด้วยการประชุมฟอรั่มหลักใน 5 หัวข้อ และฟอรั่มคู่ขนาน 11 หัวข้อ เช่น การจัดการศึกษาภาษาจีนนานาชาติ การจัดการสอบวัดระดับความรู้และสถาบันขงจื่อในโอกาสครบรอบ 20 ปีแห่งการก่อตั้ง การพัฒนาการสอนภาษาจีนในรูปแบบใหม่ด้วยดิจิทัล และการแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชนกับความเข้าใจระหว่างประเทศ เป็นต้น รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการแนะนำการเรียนสำหรับนักศึกษาต่างชาติจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจีน
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ในการประชุมฟอรั่มคู่ขนานในหัวข้อ “Unlocked Global Understanding through International Youth Exchange” รศ.ดร.ปาลนี อัมรานนท์ รองอธิการบดี งานด้านวิรัชกิจและเครือข่ายนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวบนเวที โดยเสนอหลักสำคัญ 4 ประการสำหรับการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศเพื่อสร้างความร่วมมือระดับโลก ความเข้าใจร่วมกัน และการเชื่อมโยงที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งประกอบด้วย นวัตกรรม การเชื่อมโยงระหว่างกัน การบูรณาการและการสืบสาน (Innovation, Interconnection, Integration, Inheritance) ใจความตอนหนึ่งว่า “ในส่วนการบูรณาการ สถาบันขงจื่อมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม ผ่านสถาบันขงจื่อที่มีอยู่ทั่วโลกกว่า 499 แห่ง และรวมถึง 17 แห่งในประเทศไทย สถาบันขงจื่อ จุฬาฯ เป็นตัวอย่างอธิบายได้ดีในภารกิจดังกล่าว โดยได้ช่วยบ่มเพาะผู้เรียนที่มีความสามารถทางภาษาในระดับสูง และช่วยให้ผู้เรียนได้รับความเข้าใจทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และคุณค่าอีกด้วย”
ในโอกาสนี้ รศ.ดร.ปาลนี ได้ให้สัมภาษณ์กับพีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์ว่า นโยบายการเรียนการสอนภาษาจีนของไทยในระดับอุดมศึกษามีส่วนช่วยสนับสนุนต่อการสร้างความเข้าใจระหว่างประเทศของนักศึกษาไทยอย่างมาก เพราะว่า ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีสถาบันขงจื่อช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมของจีนไม่ใช่แค่เฉพาะภาษาเท่านั้น แต่ยังมีการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของจีนและประเพณีของจีนซึ่งคิดว่า เด็กไทยได้รับความรู้และได้เรียนรู้ทางด้านนี้มากและจะเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนได้ดียิ่งขึ้น
รศ.ดร.ปาลนี กล่าวเสริมว่า “ในปัจจุบันเยาวชนไทยและจีนมีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนระหว่างกันเยอะมาก โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยมีการรับนักเรียนแลกเปลี่ยนและมีการเซ็น MOU (บันทึกความเข้าใจ) กับหลาย ๆ สถาบันชั้นนำของจีน เช่น มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยชิงหัว ซึ่งจำนวนตัวเลขของนักเรียนนักศึกษาแลกเปลี่ยนก็เพิ่มขึ้นทุกปี ปีนี้มีเยาวชนจีนที่ลงทะเบียนกับจุฬาลงกรณ์ฯ มากเกือบถึง 500 คน โดยเมื่อสองสัปดาห์ก่อน อธิการบดีของจุฬาฯ ก็ได้มาเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และมีนักเรียนจากมหาวิทยาลัยชิงหัวมาเข้าพบท่านด้วย เยาวชนที่มาเรียนในจีนก็บอกว่ามีความสุขมาก ๆ ก็คิดว่า มหาวิทยาลัยฯ จะสนับสนุนเพิ่มจำนวนมากขึ้นโดยที่ให้ทุนการศึกษาแก่นิสิตจุฬาฯ มาแลกเปลี่ยนกับทางจีนค่ะ” ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยสนับสนุนการเพิ่มความเข้าใจระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น
ในอนาคตจะมีโครงการแลกเปลี่ยนกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างเยาวชนไทยกับจีนมากขึ้น รศ.ดร.ปาลนีกล่าวว่า “ในปีหน้าจะครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ก็จะมีกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง ถ้าเป็นไปได้ก็จะมีการลงนาม MOU ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาชั้นนำของจีนกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเสมือนพี่น้องที่มีความสัมพันธ์กันมายาวนานค่ะ ก็คิดว่าจะมีกิจกรรมยิ่งใหญ่เลยค่ะ และก็จะสนับสนุนนิสิตของจุฬาฯ ให้มาแลกเปลี่ยนที่ประเทศจีนมากยิ่งขึ้นค่ะ”
รศ.ดร.ปาลนี อัมรานนท์ รองอธิการบดี งานด้านวิรัชกิจและเครือข่ายนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้สัมภาษณ์กับ
พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์
ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์ฟู่ เจิงโหย่ว ที่ปรึกษาอาวุโสสถาบันขงจื่อแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองประธานสมาคมครูจีน (ประเทศไทย) และนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยปักกิ่งแห่งประเทศไทยได้ให้สัมภาษณ์กับพีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์เกี่ยวกับสถานการณ์การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีนไทยในด้านการศึกษาว่า “ผมเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนไทย-จีน รุ่นแรกในปี พ.ศ.2523 ตอนนั้นจีนและไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันแล้ว 5 ปี และผมเป็นหนึ่งในนักศึกษาแลกเปลี่ยนรุ่นแรกที่มีเพียง 3 คน อีกสองท่านคือ ศาสตราจารย์เฉิน หรงหลิน อาจารย์มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศ และอาจารย์เหมิ่ง หยวนเปียว ขณะเดียวกันทางไทยก็ส่งนักศึกษาแลกเปลี่ยนไปเรียนในจีน 3 คน จวบจนกระทั่งปี 2566 มีนักเรียนจีนไปเรียนในไทยในระดับประถม มัธยมและอุดมศึกษารวมเกือบ 40,000 คน
การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการศึกษาระหว่างจีน-ไทยก็มีการพัฒนาที่ดีขึ้นมาก ปัจจุบัน นักเรียนไทยมาเรียนในจีนถึง 30,000 คน ผมคิดว่าการแลกเปลี่ยนการศึกษาและวัฒนธรรมของไทยกับจีนจะพัฒนาต่อเนื่องไป โดยเฉพาะในปีหน้าที่จะครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต
นอกจากนี้ เมื่อ 40 ปีก่อน นักเรียนไทยเน้นเรียนเฉพาะภาษาจีนเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันมีการขยายสาขาวิชาในการเรียนไปสู่สาขาต่าง ๆ มากขึ้น เช่น เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ การบริการต่าง ๆ ประวัติศาสตร์ รวมถึงการแพทย์ การที่จีนและไทยมีการพัฒนาด้านการศึกษาระหว่างกันมากขึ้นเพราะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะการที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนใจและเดินทางมาศึกษาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งในปี 2544 มีส่วนช่วยทำให้การศึกษาภาษาจีนพัฒนาไปและทรงเป็นต้นแบบของการศึกษาฯ”
ศาสตราจารย์ฟู่ เจิงโหย่ว ที่ปรึกษาอาวุโสสถาบันขงจื่อแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองประธานสมาคมครูจีน (ประเทศ
ไทย) และนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยปักกิ่งแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์กับพีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์