งานประชุมภาษาจีนโลก 2024 ณ กรุงปักกิ่ง: ครูชาวจีนโรงเรียนจิตรลดาให้สัมภาษณ์ถึงการเรียนการสอนภาษาจีนและการแลกเปลี่ยนระหว่างไทย-จีน

(People's Daily Online)วันพุธ 20 พฤศจิกายน 2024

ในงานประชุมภาษาจีนโลก 2024 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติจีนในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 15-17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จาง ลี่จวน ครูชาวจีนผู้รับผิดชอบห้องเรียนขงจื่อ โรงเรียนจิตรลดาได้เข้าร่วมสัมมนาในหัวข้อ “พันธมิตรโรงเรียนและการเรียนภาษาเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชนนานาชาติ” และในโอกาสนี้ได้ให้สัมภาษณ์กับพีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์ถึงการเรียนการสอนและการแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชนไทย-จีน

นโยบายการเรียนการสอนภาษาจีนของโรงเรียน

จาง ลี่จวนกล่าวว่า ตอนนี้ การสอนภาษาจีนในโรงเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายดำเนินการโดยห้องเรียนขงจื่อของโรงเรียนจิตรลดา ครูของเราส่วนใหญ่ประกอบด้วยครูชาวจีนจากมหาวิทยาลัยครุศาสตร์เทียนจิน (Tianjin Normal University) มหาวิทยาลัยพันธมิตรในประเทศจีน และครูชาวไทยจากโรงเรียนจิตรลดา

ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ภาษาจีนเป็นวิชาบังคับ และภายในชั้นเรียน เราใช้วิธีการสอนแบบร่วมมือกันระหว่างครูชาวจีนและชาวไทย ครูชาวไทยมีประสบการณ์มากในการจัดการห้องเรียน ขณะที่ครูชาวจีนสามารถมุ่งเน้นในการสอนภาษาจีนได้มากขึ้น

ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ภาษาจีนเป็นหลักสูตรวิชาเอกที่มีการเรียน 6 ถึง 8 คาบเรียนต่อสัปดาห์ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักเรียนในการศึกษาต่อต่างประเทศ และการพัฒนาภาษาจีนของแต่ละคนที่หลากหลายกันไป อนึ่ง ในปัจจุบัน นักเรียนในโรงเรียนจิตรลดามากกว่า 700 คน เรียนภาษาจีน

ในแง่ของวิธีการสอน เราใช้การสอนที่เน้นให้ผู้เรียนมีการแสดงออกเพื่อให้นักเรียนเรียนรู้ภาษาอยู่เสมอ การสนทนาเป็นสิ่งจำเป็นในระดับประถมศึกษาและมัธยมต้น ดังนั้น เราจะออกแบบกิจกรรมจำนวนมากในห้องเรียนเพื่อให้นักเรียนเรียนรู้จากการกระทำ แต่ในระดับมัธยมปลาย เราจะออกแบบสถานการณ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น และเน้นการแสดงออกตามหัวข้อทั้งในด้านการพูดและการเขียน สำหรับนักเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมต้น รวมถึงนักเรียนในระดับมัธยมปลาย เราจะใช้กลยุทธ์การสอนที่แตกต่างกันเพื่อให้พวกเขาเรียนรู้ภาษาจีนได้ดียิ่งขึ้น

การดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชนไทยกับเยาวชนจีนในปัจจุบันและอนาคต

จาง ลี่จวนกล่าวว่า เรายังมีโครงการแลกเปลี่ยนมากมายสำหรับเยาวชนจีนและไทย และอยู่ในสาขาและระดับที่แตกต่างกัน ขณะนี้ ในวงการการเรียนการสอนภาษาจีนในประเทศไทยหรือสำหรับพวกเราที่เป็นครู โครงการที่มีบทบาทมากที่สุดคือโครงการของศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ (Center for Language Education and Cooperation หรือ CLEC) เช่น สะพานสู่ภาษาจีน นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยครุศาสตร์เทียนจินยังให้ทุนการศึกษามากมายแก่เยาวชนไทย รวมถึงโครงการพิเศษต่าง ๆ ในอนาคตเรามั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการเหล่านี้จะพัฒนาต่อไปทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง

บทบาทของห้องเรียนขงจื่อในการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาจีนและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีนและไทย

จาง ลี่จวนกล่าวว่า ห้องเรียนขงจื่อที่โรงเรียนจิตรลดามีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ภาษาจีนและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมสำหรับนักเรียนไทยนับตั้งแต่ก่อตั้ง ในขณะที่นักเรียนกำลังเรียนภาษาจีน ห้องเรียนขงจื่อก็มีโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมมากมาย โครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของเราได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์แลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือด้านภาษาจีนระหว่างประเทศ ในปีนี้ นักเรียนเรามาเรียนที่มหาวิทยาลัยครุศาสตร์เทียนจิน ในนครเทียนจินและมาเยี่ยมชมปักกิ่ง หลังจากที่พวกเขามาถึงจีน พวกเขาก็ได้เห็นจีนในหลายมิติ ฉันเชื่อว่าความใกล้ชิดของภาษาและวัฒนธรรมที่ปลูกฝังในเยาวชนของเราจะมีบทบาทสำคัญในการแลกเปลี่ยนระหว่างสองประเทศในอนาคตในแง่ของการสื่อสารซึ่งกันและกัน การเรียนรู้ร่วมกัน และความไว้วางใจซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ ยังวางรากฐานที่ดีสำหรับอนาคตของทั้งสองประเทศอีกด้วย


จาง ลี่จวน ครูชาวจีนผู้รับผิดชอบห้องเรียนขงจื่อ โรงเรียนจิตรลดาให้สัมภาษณ์กับพีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์