อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำจีนเล็งเห็นถึงความสัมพันธ์จีน-ไทยที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในวาระครบรอบ 50 ปี

(People's Daily Online)วันจันทร์ 16 ธันวาคม 2024

นายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศจีน กล่าวถึงความสัมพันธ์จีน-ไทยว่า “เหมือนครอบครัวเดียวกัน” เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและไทย โดยเขาได้แบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันหยั่งรากลึกและหลากหลายระหว่างจีนและไทย รวมถึงมุมมองเกี่ยวกับความสัมพันธ์จีน-อาเซียน

“นับเป็นก้าวสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีน” นายอรรถยุทธ์กล่าวเมื่อเอ่ยถึงวาระครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ โดยเขาได้แสดงความคิดเห็นดังกล่าวในการสัมภาษณ์ที่จัดขึ้นโดยศูนย์อาเซียน-จีน (ACC) ในระหว่างโครงการนำสื่อมวลชนจีนเยือนประเทศสมาชิกอาเซียนที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2567 โดยระบุว่า การแลกเปลี่ยนระหว่างสองประเทศมีมายาวนานเกือบหนึ่งพันปี เขาชื่นชมความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและลึกซึ้งของชุมชนชาวจีนในประเทศไทย

“ความร่วมมือของเราขยายไปสู่ทุกพื้นที่ ไม่เพียงแต่ด้านการเมืองและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงด้านสังคม วัฒนธรรม และระหว่างประชาชนด้วย” เขากล่าวเสริม โดยยืนยันคำพูดของชาวจีนที่ว่า “จงไท่อี้เจียชิน” ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้น

อดีตเอกอัครราชทูตได้กล่าวถึงเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต โดยเน้นย้ำถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว และรู้สึกยินดีที่ได้เห็นนักลงทุนชาวจีนให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน

นายอรรถยุทธ์คาดหวังให้ทั้งสองประเทศร่วมมือกันมากขึ้นในด้านพลังงานสีเขียว เทคโนโลยีสะอาด และการศึกษา “ปัจจุบัน นักศึกษาจีนจำนวนมากกำลังศึกษาในประเทศไทย ขณะที่นักศึกษาไทยกำลังศึกษาในประเทศจีนเพิ่มมากขึ้น” เขากล่าว และเน้นย้ำว่าการแลกเปลี่ยนเช่นนี้จะช่วยส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเตรียมความพร้อมให้กับคนรุ่นต่อไปในการเป็นผู้นำความร่วมมือทวิภาคีและระดับภูมิภาค

ในการหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอาเซียน นายอรรถยุทธ์ได้ยกย่องบทบาทของจีนในฐานะหุ้นส่วนการเจรจาที่สำคัญ โดยกล่าวว่า “จีนเป็นผู้สนับสนุนอย่างมั่นคงต่อความสำคัญของอาเซียนและความร่วมมือในภูมิภาค” โดยยกตัวอย่างโครงการต่าง ๆ เช่น เขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง

นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์การเจรจาระหว่างจีนและอาเซียนในปี 2534 ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอาเซียนก็ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่น ในปี 2564 จีนและอาเซียนตกลงที่จะยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุม นายอรรถยุทธ์กล่าวว่า “เรามุ่งหวังที่จะขยายความร่วมมือที่มีอยู่ไปยังพื้นที่อื่น ๆ”

“ความสัมพันธ์อาเซียนและจีนเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จ” เขากล่าว พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันเพื่อสร้างประชาคมจีน-อาเซียนที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นพร้อมอนาคตร่วมกัน พร้อมกล่าวเสริมว่า “ประชาคมระหว่างประเทศมองว่าความร่วมมือระหว่างอาเซียนและจีนเป็นรากฐานสำหรับบทบาทของอาเซียนในประชาคมระหว่างประเทศ”