การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนได้รับแรงผลักดันท่ามกลางการสนับสนุนจากนโยบายที่ยั่งยืน
![]() |
คนงานกำลังทำงานในโรงงานบริษัทยานยนต์แห่งหนึ่งในเมืองกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 (ซินหัว) |
การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มมีแรงกระตุ้นในเดือนพฤศจิกายน โดยได้รับแรงหนุนจากนโยบายสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจชุดล่าสุด ซึ่งมีส่วนช่วยสะสมปัจจัยบวกหลายประการ
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เผยว่า ในเดือนพฤศจิกายน ผลจากมาตรการนโยบายต่าง ๆ ร่วมกันยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยให้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมในตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุน การบริโภคและบริการในเดือนที่ผ่านมา
ฟู่ หลิงฮุย โฆษกสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ว่า “เศรษฐกิจจีนโดยทั่วไปเติบโตอย่างมั่นคงและมีแนวโน้มก้าวหน้า โดยมีปัจจัยบวกสะสมเพิ่มขึ้น ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากมาตรการนโยบายต่าง ๆ มากมาย”
โฆษกของ NBS กล่าวว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจที่สำคัญ ขยายตัวร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่มั่นคง ซึ่งขับเคลื่อนจากการอัพเกรดอุปกรณ์ขนาดใหญ่และโปรแกรมแลกเปลี่ยนสินค้าอุปโภคบริโภค
ข้อมูลของ NBS ระบุว่า ผลผลิตภาคการผลิตอุปกรณ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 จากเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากเดือนก่อนหน้า โดยมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมเกือบครึ่งหนึ่ง
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสำหรับภาคการผลิตอยู่ที่ 50.3 ในเดือนที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า และทะลุเส้น 50 ซึ่งเป็นแนวขึ้น-ลงเป็นครั้งที่สอง นับตั้งแต่กลับมาขยายตัวอีกครั้งในเดือนตุลาคม หลังจากที่หดตัวติดต่อกันมา 5 เดือน
ฟู่เน้นย้ำถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นในแง่ของการลงทุนและการบริโภค ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของประเทศมีมูลค่า 46.5839 ล้านล้านหยวน (ราว 218.944 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ในเดือนพฤศจิกายน ยอดขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนพุ่งขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ 4.38 ล้านล้านหยวน (ราว 20.586 ล้านล้านบาท) ฟู่กล่าวพร้อมเสริมว่า ด้วยโปรแกรมแลกเปลี่ยนสินค้าอุปโภคบริโภคของประเทศที่ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป ยอดขายปลีกเครื่องใช้ในครัวเรือนและอุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ รถยนต์ และวัสดุก่อสร้างและตกแต่ง จึงเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2, 10.5, 6.6 และ 2.9 ตามลำดับ
ข้อมูลของ NBS ระบุว่าในเดือนพฤศจิกายน ดัชนีการผลิตภาคบริการของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เมื่อแยกย่อยตัวเลข ดัชนีย่อยด้านการส่งข้อมูล ซอฟต์แวร์ และบริการไอที รายงานว่ามีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของภาคการเช่าและบริการธุรกิจที่ร้อยละ 9.3 ตามมาด้วยการเติบโตของภาคการเงินที่ร้อยละ 8.8
โฆษกยังตั้งข้อสังเกตว่า คุณภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนยังคงปรับปรุงดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 11 เดือนแรก ผลผลิตของอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
เฉพาะเดือนพฤศจิกายนเพียงเดือนเดียว การผลิตยานยนต์พลังงานใหม่ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์วงจรรวมของประเทศพุ่งสูงขึ้นร้อยละ 51.1, 29.3 และ 8.7 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่สีเขียวรอบด้านของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ฟู่ยังกล่าวอีกว่าสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศยังคงซับซ้อนและท้าทาย
สำหรับขั้นต่อไป จะต้องมีการดำเนินนโยบายต่าง ๆ อย่างเพียงพอและมีประสิทธิผลเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัว ปรับโครงสร้างให้เหมาะสม และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีคุณภาพสูงต่อไป
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ออกเอกสารระบุมาตรการในการปรับปรุงอุตสาหกรรมค้าปลีกของประเทศให้ทันสมัยในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมุ่งหวังที่จะสร้างระบบค้าปลีกสมัยใหม่ที่ประกอบด้วยสินค้าที่มีคุณภาพและบริการที่ยอดเยี่ยม ซึ่งต้องมีความเป็นอัจฉริยะ สะดวกสบาย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายในปี 2572
![]() |
คนงานกำลังทำงานในโรงงานบริษัทสิ่งทอแห่งหนึ่งในเมืองเหลียนหยุนก่าง มณฑลเจียงซู ทางตะวันออกของจีน ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 (ซินหัว) |
![]() |
คนงานกำลังทำงานในโรงงานบริษัทสิ่งทอแห่งหนึ่งในเมืองจุนฮว่า มณฑลเหอเป่ย ทางตอนเหนือของจีน ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 (ซินหัว) |
![]() |
คนงานกำลังทำงานในซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในเมืองเกามี่ มณฑลซานตง ทางตะวันออกของจีน ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 (ซินหัว) |